กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศส่งใบสมัครรับต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศ เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตของต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดที่เคยเก็บรักษาไว้ในห้องปฏิบัติการคิโบะโมดูล (Kibo Module) ขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นหรือแจ็กซา (JAXA) บนสถานีอวกาศนานาชาติ เปรียบเทียบกับต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดปกติบนโลก โดยเปิดรับใบสมัครถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565
.
.
.
.
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่าแจ็กซา ได้ดำเนินโครงการ Asian Herb in Space หรือ AHiS เพื่อคัดเลือกเมล็ดพันธุ์พืชส่งขึ้นสู่อวกาศ โดยมีเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 22 ชนิด ซึ่งคัดเลือกมาจาก 11 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เนปาล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บังคลาเทศ สิงคโปร์ เวียดนาม ไต้หวัน และไทย เพื่อส่งขึ้นไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติ
“สวทช. เข้าร่วมโครงการ AHiS กับแจ็กซา โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คัดเลือก “เมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์” ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติไทย จำนวน 350 เมล็ด ไปกับจรวดฟอลคอน-9 (Falcon-9) ของ บริษัทสเปซเอกซ์ (SpaceX) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 เพื่อเก็บรักษาในห้องปฏิบัติการคิโบะโมดูลบนสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นเวลา 7 เดือน ก่อนส่งกลับถึงพื้นโลก เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 และได้ร่วมกับห้องปฏิบัติการ Plant Biology & Astroculture กลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการเพาะเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์อวกาศ ณ โรงเรือนวิจัย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา”
.
.
.
นางกุลประภา กล่าวว่า ขณะนี้ต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศเติบโตพร้อมนำไปปลูก สวทช. ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วม “โครงการราชพฤกษ์อวกาศ” เพื่อรับมอบต้นกล้าราชพฤกษ์ที่ปลูกโดยเมล็ดจากอวกาศและต้นกล้าราชพฤกษ์ปลูกโดยเมล็ดปกติ อย่างละ 1 ต้น สำหรับนำไปปลูกคู่กัน เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการเจริญเติบโตระหว่างต้นที่ใช้เมล็ดจากอวกาศกับต้นที่ใช้เมล็ดปกติบนโลก ทั้งนี้ข้อกำหนดสำคัญในการสมัคร คือหน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องรายงานความเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตและจัดกิจกรรมเกี่ยวกับต้นราชพฤกษ์อวกาศส่งมาถึงโครงการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและประชาชน
สำหรับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาที่สนใจ ส่งใบสมัครทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation/space-tree-registration ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และประกาศรายชื่อหน่วยงานที่ได้รับคัดเลือกในวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ก่อนที่จะส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศเฟสแรก จำนวน 100 ต้น ในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ต่อไป ทั้งนี้ติดตามรายละเอียดข้อมูลและการสมัครเข้าร่วมโครงการราชพฤกษ์อวกาศเพิ่มเติมได้ที่ Website: https://www.nstda.or.th/spaceeducation/space-tree-registration/ และ Facebook: https://www.facebook.com/NSTDASpaceEducation