ตำรวจยัน ไม่ได้ใช้กระสุนยาง-จริง อาจารย์มธ.สวน ตร.ผิด ม157 ทำเกินกว่าเหตุ

ตำรวจยัน ไม่ได้ใช้กระสุนยาง-จริง อาจารย์มธ.สวน ตร.ผิด ม157 ทำเกินกว่าเหตุ


ตำรวจ ยัน ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนและกฎหมาย ไม่มีการใช้กระสุนยาง-จริง แจงฉีดน้ำเตือนเหตุม็อบเริ่มใช้ความรุนแรง ด้านอดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. ชี้ตำรวจผิดม.157 กระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (17พ.ย.63) เวลา 23.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) แถลงสรุปลำดับเหตุการณ์และแนวทางการปฏิบัติของตำรวจต่อการชุมนุมของมวลชนเสื้อเหลือง และกลุ่มราษฎรที่รัฐสภา เกียกกาย

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ตำรวจยืนยันว่าการปฏิบัติหน้าที่วันนี้เป็นไปตามขั้นตอนและกฎหมาย ตั้งแต่การเตือนผู้ชุมนุมผ่านแกนนำและสื่อมวลชน พอเกิดการชุมนุมก็ตั้งแนวตามระยะทางการเดินของผู้ชุมนุม แต่มีการฝ่าแนวกั้น รื้อถอนทำลายรั้วหนาม และแบริเออร์เข้าเขต 50 เมตรของรัฐสภา และมีการใช้กำลังประทุษร้ายต่อตำรวจ มีผู้ปาพลุ-ควันไฟเข้ามา จึงต้องฉีดน้ำเตือนตามมาตรการกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมไม่หยุดการกระทำ ตำรวจจึงใช้น้ำผสมสารเคมีฉีดเตือนผู้ชุมนุม ก่อนจะใช้แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง ก่อนที่ตำรวจจะถอยร่นไปจนถึงหน้าประตูทางเข้ารัฐสภา

ทั้งนี้ยืนยันว่ามาตรการต่างๆ นั้นใช้ตามความจำเป็น เพื่อป้องกันเหตุวุ่นวาย โดยเลือกใช้เฉพาะวิธีที่เหมาะสมกับการชุมนุมครั้ง ยืนยันไม่มีการใช้กระสุนยางและกระสุนจริงไปปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้แน่นอน

ทั้งนี้ จากเหตุดังกล่าวมีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 26 คน เป็นทั้งตำรวจและผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย และมีอีกจำนวนหนึ่งที่กำลังตรวจสอบว่าบาดเจ็บจากการถูกกระสุนปืนยิงที่ถนนทหารจริงหรือไม่ ด้านความเสียหายทางทรัพย์สินราชการ เบื้องต้นมีรถตำรวจและทรัพย์สินกรุงเทพมหานคร เช่น รั้วเหล็กต่างๆ

ด้านนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

“ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ทำความผิดฐานชุมนุมในเขตต้องห้ามและไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า ไม่ใช่ความผิดอุกฉกรรจ์ มีโทษจำคุกสูงสุดเพียงแค่จำคุกไม่เกิน 6 เดือน แต่จัดกำลังตำรวจปราบจลาจลนับพันคน มีรถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา อาวุธปืนทั้งกระสุนยางกระสุนจริงครบมือ จัดวางสิ่งกีดกั้นขึงรั้วลวดหนามทำราวกับผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้าย ก่อการจลาจล หรือเป็นอาชญากรคดีอุกฉกรรจ์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุ เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อาญา ม.157 แน่นอน

เพราะการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะไม่ใช่ความผิดร้ายแรง การบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้องเหมาะสมคือ การดำเนินคดีส่งฟ้องศาลเหมือนคดีทำผิดกฎจราจรเท่านั้น เพราะในความผิดบางฐานศาลอาจใช้ดุลยพินิจไม่ลงโทษเลยก็ได้ (ม.32-33)

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 27 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 หรือมาตรา 8 (ชุมนุมในเขตต้องห้าม) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ มาตรา 28 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 (ไม่แจ้งการชุมนุม) มาตรา 12 มาตรา 17 หรือมาตรา 18 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

 

ข่าวที่น่าสนใจ

“สิระ” ลั่น คว่ำร่าง”ไอลอว์” หวังพา “ทักษิณ”กลับบ้านแบบเนียนๆ ไร้คดีโกง