รองโฆษกอัยการสูงสุด เสนอทางออก “ตู้ปันสุข” ทำอย่างไรให้สุขทั้ง “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” คำตอบเดียวคือ “คุณธรรม”
ท่ามกลางวิกฤตของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบทุกชนชั้นทุกระดับของเมืองไทย แต่สำหรับกลุ่มคนประสบปัญหารุมเร้าอาจจะเป็นอีกหนึ่งเรื่องร้ายๆ ที่ทับถมพวกเขาอย่างหนักหน่วง แต่กระนั้น ภาพดีๆ ที่แสดงให้เห็นถึง “ขนาดหัวใจ” ของคนไทยว่ามันใหญ่แค่ไหน เมื่อถึงยามยากที่เราจะต้องมีน้ำใจต่อกันก็ปรากฎออกมามากมาย โดยเฉพาะกับการช่วยเหลือผ่าน “ตู้ปันสุข”
จากจุดเล็กของตู้ปันสุข ก่อนขยายสายธารน้ำใจให้ไหลหลั่งทั่วประเทศ ทั้งภาคเอกชน ประชาชน และภาคหน่วยงานของชาติก็ออกมาช่วยเหลือผ่านรูปแบบนี้กันอย่างแพร่หลาย ไม่เว้นแม้แต่สถานที่อย่าง “สำนักงานอัยการสูงสุด” ตัวกลางในสายน้ำแห่งความยุติธรรม ก็ลงมือ ลงแรง ลงใจ ลงสิ่งของ ผ่านตู้ปันสุขด้วยเหมือนกัน
แต่ที่น่าสนใจสำหรับตู้ปันสุข แม้จะเป็นเรื่องราวที่ดี แต่ก็ยังฝังเอาไว้ในเรื่องของปัญหาให้เราได้เห็นภาพ โดยเฉพาะการแย่งชิงสิ่งของของผู้รับ ผู้ให้พอทิ้งช่วงก็ปล่อยตู้ให้ว่างเปล่า แต่พอดีกับที่อัยการสูงสุดตั้งตู้ปันสุขเอาไว้ ซึ่งมันทำให้เห็นทางออกของปัญหานี้จากมือกฎหมายของแผ่นดิน ที่ปรากฎเป็นภาพและข้อความจาก “นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ที่โพสต์และแชร์เอาไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563 สะท้อนภาพกลับมาว่า “ความสุขทางใจ” ที่ทั้งคนให้ และคนรับ สามารถสัมผัสได้อย่างง่ายๆ ผ่านตู้ปันสุขหน้า
“ตู้ปันสุขที่ว่างเปล่า..!! เห็นแล้วเศร้า ว่างเพราะอะไร คนไทยส่วนใหญ่เค้ามีน้ำใจนะ แต่ตู้ปันสุข ที่มีผู้ให้ ใส่ของแบ่งปันมาเรื่อยๆ..?? อยู่ที่ไหน
ผมเดินทางไปดูตู้ปันสุขหลายๆตู้ ตู้โล่ง..ว่างเปล่า ไม่มีของในตู้เลย เห็นแล้วห่วงใย เศร้ากับคนในละแวกนั้น ขาดของกินของใช้จะหยิบได้ที่ไหน ทำไมตู้ถึงโล่งว่าง แสดงว่าคนขาดมากกว่าคนมี หรือคนมี..มีแต่ไม่อยากใส่..ข่าวเจ้าของตู้ โดนชาวบ้านต่อว่า ข่าวคนมากอบโกย โลภโมโทสัน กวาดของไปจากตู้ ข่าวคนแย่งของกันหน้าตู้ ข่าวคนเอาของในตู้ไปขาย ทำให้เรามองเห็นถึง “คุณธรรมของผู้รับ”
คุณธรรมของผู้รับ ถ้าผู้รับหยิบของแค่ครั้งละสองชิ้น รู้จักพอเพียง ผู้รับก็เป็นผู้ให้ได้ทันที ให้โอกาสคนมาทีหลังได้หยิบต่อ ผู้รับไม่กอบโกย ผู้รับไม่โลภ ผู้รับ..รับอย่างมีคุณธรรม ผู้ให้ย่อมมีกำลังใจ และจะให้ต่อๆไป สำนักงานอัยการจึงจัดระเบียบ ตู้ปันสุข หน้าประตูตึกอัยการรัชดามีพี่ๆ รปภ คอยให้คำแนะนำ ขอให้หยิบครั้งละสองชิ้น แล้วค่อยมาหยิบใหม่ หยิบไปกิน หยิบไปใช้ทันที ไม่หยิบไปเก็บ ซึ่งเป็นคำแนะนำช่วยผู้รับให้มีคุณธรรม เมื่อหยิบครั้งละสองชิ้นกันอย่างเคยชิน ของในตู้ก็จะไม่ขาด คนมาที่หลัง ก็มีเหลือให้ได้รับการแบ่งปัน
หยิบคนละสองชิ้น เป็นการมอบทักษะ แห่งความพอเพียง เริ่มฝึกเป็นผู้ไม่โลภ ไม่กอบโกย ไม่เก็บอะไรไว้เกิน ให้แก่ประชาชนบริเวณตึกอัยการรัชดา และผู้สัญจรผ่านไปมาที่ถนนหน้าตึก โดยอัยการจะช่วยสร้าง ”คุณธรรมของผู้รับ” ให้ประชาชน ได้รับวัฒนธรรมใหม่ โดยยึดหลัก “พอเพียง” เมื่อประชาชนให้ความร่วมมือกับอัยการ ของจากผู้มีน้ำใจมาใส่ตู้ ก็กระจายได้มากแบ่งปันอย่างทั่วถึง ผู้ให้ที่มาแบ่งปันก็เกิดกำลังใจต่อน้ำใจที่มอบสิ่งของให้ และมอบให้ต่อๆไปอีกให้ตู้ปันสุข ที่อัยการได้จัดระเบียบ รับสุข เพื่อเป็นภาวะวิถีชีวิตปกติสุขใหม่ของคนไทย
ขอบพระคุณท่าน เกียรติศักดิ์ กัลยาสิริวัฒน์ แวะมอบ ข้าวสาร 1,000 ถุง ใส่ตู้ปันสุข หน้าตึกอัยการรัชดา มอบต่อพี่น้องประชาชน ต่อไป ขอรับ
บ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้งจำกัด(มหาชน) มอบเจเล่ เบนโต๊ ฯใส่ตู้ 100 ลัง และอีกมากมายหลายท่านที่แวะมาแบ่งปัน
ผู้มีน้ำใจที่มอบของ มาแล้ว เห็นการจัดระเบียบต่างบอกว่าเดี๋ยวของขาดไปจะมาเติมกันต่อ น้ำใจต่อเนื่อง เกิดจากการรับอยากมีคุณธรรม อัยการ และโครงการในพระดำริฯยินดีช่วยจัดระเบียบสังคม”
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ