แม้ถูกจัดให้เป็นเพียงพืชชั้นต่ำ แต่ “ไลเคน” กลับสร้างคุณูปการให้กับโลกใบนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทำหน้าที่เป็นตัวชี้วัดอากาศ ‘ดี’ หรือ ‘แย่’
เวลาไปเดินเที่ยวตามสวนป่าหรือบริเวณที่มีต้นไม้หนาแน่น อย่างเขตอุทยาน หรือแหล่งธรรมชาติที่อยู่ไกลออกไปจากชุมชนเมือง ไกลจากแหล่งอุตสาหกรรม เคยรู้สึกบ้างหรือไม่ว่า อากาศที่เราหายใจเข้าไปมีความสะอาดเพียงใด หากแต่ว่าร่างกายของหลายคนอาจจะไม่สามารถสัมผัสได้ จึงอยากจะแนะนำวิธีสังเกตความบริสุทธิ์ของคุณภาพอากาศด้วยวิธีการสังเกตธรรมชาติจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มองเห็นง่าย ๆ ด้วยตาเปล่า
สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ มีรูปร่างที่แตกต่างกันออกไป บ้างเป็นแผ่นคล้าย ๆ เชื้อรา บ้างคล้ายใบไม้ ไม่ติดแน่น จะเกาะอยู่ตามลำต้นของต้นไม้ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยของเห็ดราและสาหร่าย มีชื่อเรียกว่า ไลเคน(Lichen) ที่ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะหากแยกกันอยู่จะไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้
โดยเห็ดราดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะอาศัยความชื้นและก๊าซออกซิเจนจากสาหร่าย และสาหร่ายใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเห็ดราในการสังเคราะห์ ทำให้เห็ดราได้รับอาหารและออกซิเจนจากสาหร่าย จึงเห็นได้ชัดว่า “ไลเคน” เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพของอากาศได้เป็นอย่างดี
ไลเคน มีคุณสมบัติในการชี้วัดคุณภาพอากาศได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เจริญเติบโตได้ในคุณภาพอากาศดีเท่านั้น
ได้แก่ ฟรูติโคส (Fruticose) ลักษณะเป็นเส้นสาย มีลักษณะคล้ายหนวดเครา มีลักษณะห้อยลงมาอ่อนไหวมากชอบอากาศบริสุทธิ์ ความชื้นสูง และโฟลิโอส (Foliose) ลักษณะคล้ายใบไม้ ไม่ติดแน่น อ่อนไหวชอบอากาศดี มีความชื้น จัดเป็นกลุ่มไลเคนอากาศดี
ส่วนกลุ่มที่ 2 มีความทนทานต่อมลภาวะทางอากาศ ได้แก่ สแควมูโลส (Squamulose) ลักษณะเป็นเม็ดคล้ายลูกหินติดแน่นอยู่กับต้นไม้ ทนทานต่อความแห้งแล้ง มลภาวะ จัดเป็นกลุ่มไลเคนทนทาน
กลุ่มที่ 3 ไลเคนที่มีทนทานสูง อยู่และเติบโตได้ทั้ง ๆ ที่อากาศเต็มไปด้วยมลพิษ ได้แก่ ครัสโตส (Crustose) ลักษณะเป็นแผ่นแข็งติดอยู่บนต้นไม้ ทนทานสูงต่อความแห้งแล้ง มลภาวะ จัดอยู่ในกลุ่มไลเคนทนทานสูง
คุณค่าของไลเคนไม่ใช่เพียงเป็นดัชนชี้วัดคุณภาพอากาศเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้เป็นยาพื้นบ้าน ลดไข้ รักษาโรคผิวหนัง แผลติดเชื้อ บรรเทาอาการท้องเสีย จนถึงขั้นนำมาผลิตเป็นน้ำหอมกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังนำมาสกัดสีสำหรับย้อมผ้าและใส่ในเครื่องดื่ม และวิทยาการในยุค 4.0 ยังนำสมบัติของไลเคนในด้านการดูดซับแสง UVB และมีสารต้านอนุมูลอิสระ มาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางอีกด้วย
ปัจจุบันนี้ ไม่สามารถพบ ไลเคนชนิดอากาศดี ในเมืองใหญ่และเขตอุตสาหกรรม รวมถึงกรุงเทพมหานคร แต่กลับพบว่ามีไลเคนชนิดทนทาน-ทนทานสูงต่อมลภาวะอากาศเสียส่วนใหญ่ แม้ถูกจัดให้เป็นเพียงพืชชั้นต่ำ แต่กลับสร้างคุณูปการให้กับโลกใบนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันดูแล รับผิดชอบใส่ใจคุณภาพอากาศให้สะอาดสดใสเพื่ออีกหลายชีวิตที่ต้องดำรงอยู่ต่อไปอีกยาวๆ
ที่มา : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
เรื่องอื่นที่น่าสนใจ
ฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค. ทุกภาคเตรียมรับมือภัยแล้ง ตระหนักใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า