“สนธิรัตน์”ลุย! จัดทัพพลังงาน ปี 63 ขับเคลื่อนพลังงาน เร่งไฟฟ้าเข้าถึงทุกพื้นที่พุ่งเป้าต้องเกิดโรงไฟฟ้าชุมชน ผุด!โมเดลสถานีพลังงานท้องถิ่น
วันนี้ (9 ธ.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “การสื่อสารนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติ ปี 2563”ว่า การสัมมนานี้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงานทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อรับทราบทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานไปพร้อมๆ กัน ผ่านนโยบาย “Energy For All พลังงานเพื่อทุกคน” ซึ่งได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2562 และยังคงเป็นนโยบายหลักที่จะผลักดันต่อไปในปี 2563 ที่จะมาถึง
“ในช่วงไม่กี่เดือนที่ได้เข้ามาบริหารที่กระทรวงพลังงาน ผมพบว่าเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากร มีทีมงานที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญ รวมถึงมีรัฐวิสาหกิจที่มีความเข้มแข็ง แต่ภาพลักษณ์เดิมของกระทรวงฯ ถูกมองว่าให้ความสำคัญกับการลงทุนขนาดใหญ่ ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงพลังงาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกระทรวงฯ ก็มีการทำงานที่ลงไปในระดับประชาชน ในระดับชุมชนอยู่ด้วยแล้ว เพียงแต่ขาดพลังที่จะบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่เศรษฐกิจระดับฐานราก วันนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้มาทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อทำให้นโยบายถูกแปรไปสู่ทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายสนธิรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายระยะสั้นที่จะเร่งดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย Energy For All มีดังนี้
1.ช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้านส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มและค่าไฟฟ้าผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซให้เกิดความเป็นธรรม
2.ทุกพื้นที่ของประเทศไทยที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องมีไฟฟ้าใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งพื้นที่บริเวณชายขอบ ชายแดน ปลายสายส่งไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้มีประมาณ 40 จังหวัด 662 หมู่บ้าน 53,687 ครัวเรือน และมีพื้นที่อยู่ปลายสายส่งที่เกิดปัญหาไฟตกไฟดับบ่อยอีก 11 จังหวัด 52 หมู่บ้าน 60,599 ครัวเรือน โดยอยู่ระหว่างการจัดทำกรอบการสนับสนุนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อขับเคลื่อนในทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
3.เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนกว่า 1,000 เมกะวัตต์(MW) ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กลางเดือนธันวาคมนี้
4.เกิดสถานีพลังงานชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ โดยใช้โมเดลการพัฒนาชุมชนของ จ.กาญจนบุรีเป็นแนวทางในการทำสถานีพลังงานชุมชนแบบครบวงจรที่สามารถนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ และเชื้อเพลิงฟอสซิลมาบริหารจัดการในกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงานและสร้างรายได้ต่อยอดอาชีพของชุมชน โดยจะพิจารณานำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาสนับสนุน
5.) เกิดการใช้ B10 ทั่วประเทศเป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐาน และมี B20 ที่ใช้สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ตลาดน้ำมันปาล์มมีความสมดุลมากขึ้น สร้างเสถียรภาพราคาไม่ให้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนราคาในตลาดโลก ซึ่งขณะนี้ในช่วงนำร่องดำเนินการมาระยะเดือนกว่าๆ ก็ยกระดับราคาปาล์มน้ำมันขึ้นมาที่กิโลกรัมละกว่า 4 บาทแล้ว รวมทั้ง B10 ยังช่วยลดฝุ่น PM 2.5 เพราะการส่งเสริมใช้ชีวมวลจากปาล์มช่วยลดการเผาในที่โล่ง และยังทำให้มีการปล่อย PM 2.5 น้อยลงอีกด้วย รวมทั้งในปีหน้าก็จะส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพในกลุ่มน้ำมันเบนซินต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้แก๊สโซฮอล E20 เป็นน้ำมันเกรดหลักในกลุ่มเบนซิน
6.) เกิดการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเป็นรูปธรรม จะร่วมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมภาพรวมให้เกิดการใช้ EV อย่างแพร่หลาย
“หัวใจของนโยบาย Energy For All คือ การนำพลังงานเข้าไปหมุนระบบเศรษฐกิจของประเทศจากฐานราก ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจฐานรากได้ถูกขับเคลื่อนแล้ว ก็จะเป็นการยกฐานของประเทศขึ้นไปทั้งระบบ จะช่วยหนุนให้ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยจากภายนอกที่ผันผวนไม่แน่นอนมากระทบก็ตาม” นายสนธิรัตน์ กล่าวในท้ายสุด
อย่างไรก็ตาม สำหรับการสัมมนาในปีนี้ ยังได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย (Work Shop) ระดมสมองการนำนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน Energy For All สู่การปฏิบัติในประเด็น โรงไฟฟ้าชุมชนพื้นที่ห่างไกล สถานีพลังงานชุม พลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากอีกด้วย
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ