คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ถกเรื่องปรับโครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่น ไร้ข้อยุติ เตรียมส่งตัวแทนภาครัฐและภาคประชาชนฝ่ายละ3 คนลงลึกข้อมูลทางเทคนิคโครงสร้างการคำนวณราคาหน้าโรงกลั่นอีกรอบ ตัวแทนภาคประชาชนกดดันเปลี่ยนสูตรอ้างอิง เชื่อราคาน้ำมันลดได้อีก 1.50 บาทต่อลิตร
วันที่ 2 ธ.ค.62 นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้แทนภาคประชาชนได้ร่วมแถลงข่าว ภายหลังการประชุมคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญเรื่อง ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งบรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี มีการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และยังมีตัวแทนภาคธุรกิจในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันร่วมให้ข้อมูลที่ถือเป็นสารตั้งต้นสำหรับเดินหน้าให้ได้ราคาพลังงานที่เป็นธรรมในที่สุด
โดยเนื้อหาที่ได้หารือครั้งนี้มุ่งไปที่เรื่องหลักคือ ราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่นน้ำมันที่เป็นการอ้างอิงการนำเข้าจากตลาดสิงคโปร์ (Import Parity)ว่าเกณฑ์ดังกล่าวยังมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร หากไม่เหมาะสมควรมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในแนวทางใด หรืออาจจะยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าวได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะได้มีการหารือในทางเทคนิคต่อไป โดยจะมีผู้แทนของทางภาครัฐและภาคประชาชนที่เข้าร่วมพิจารณาทางเทคนิคฝ่ายละ 3 คนเพื่อดำเนินการให้ได้ตัวเลขการปรับปรุงที่เป็นรูปธรรม เพื่อนำผลการหารือเข้าที่ประชุมในครั้งหน้าวันที่ 13 ธ.ค.2562 ต่อไป
ด้านน.ส.รสนา กล่าวว่า จากข้อมูลของภาคประชาชนพบว่า ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ราคาน้ำมันดิบ และ 2.ราคาพรีเมียม(Premium) ประกอบด้วย ค่าขนส่งน้ำมันจากตลาดสิงคโปร์มายังไทย, ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างขนส่ง,ค่าเสียเวลาเรือ,ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน,ค่าใช้จ่ายสำรองน้ำมั้นเพื่อความมั่นคง และค่าบริการอื่นๆ ซึ่งในส่วนค่าพรีเมียมคาดว่าจะสามารถลดลงได้
ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ทำให้ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลง เพราะราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนทางตรงทั้งต่อภาคการผลิต และค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้นในที่ประชุมครั้งนี้จึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะให้ภาครัฐและภาคประชาชนส่งตัวแทนฝ่ายละ 3 คน เพื่อเข้าดูข้อมูลค่าพรีเมียมของโรงกลั่น แต่ห้ามนำมาเปิดเผย จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวไปหารือในที่ประชุมวันที่ 13 ธ.ค. 2562 นี้
ส่วน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กล่าวว่า ข้อเสนอภาคประชาชนคือ ไทยได้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปแล้วหลายปี มูลค่าส่งออกเมื่อปีที่แล้วประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อสามารถส่งออกได้จำนวนมากจึงต้องการให้ราคาการอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นเป็นการอ้างอิงราคาส่งออกน้ำมันไปสิงคโปร์ซึ่งถูกกว่าเป็นหลัก แทนการอิงราคานำเข้าแบบเดิม
ซึ่งหลักการหารือในครั้งนี้ก็เป็นการพูดคุยเริ่มตั้งแต่ต้นทางของราคาน้ำมันก่อนบวกภาษี ซึ่งหากได้ข้อสรุปของเรื่องสูตรการกำหนดราคาหน้าโรงกลั่น ก็จะทำให้ภาครัฐมีไม้บรรทัดในการกำกับดูแลประเด็นต่อๆไปได้อย่างโปร่งใส และขอขอบคุณกระทรวงพลังงานยุคนี้ ที่เปิดให้ภาคประชาชนมีสิทธิเสียงคุยกันเต็มที่เป็นสิ่งที่น่าชมเชยในความกล้าหาญ
ขณะที่นายรุ่งชัย จันทสิงห์ คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ในส่วนของภาคประชาชน กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าราคาน้ำมันสามารถลดลงได้ประมาณ 1.50 บาทต่อลิตร ซึ่งมาจาก 3 ส่วน ได้แก่
1.ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซินประมาณ 50 สตางค์ต่อลิตร เนื่องจากเมื่อเดือน พ.ย. 2562 สิงคโปร์ได้ปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันเบนซินเป็นมาตรฐานยุโรป 4 (ยูโร4) จากเดิมเป็นมาตรฐานยุโรป 3 (ยูโร3) ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันไทยแล้ว ดังนั้นโรงกลั่นจึงไม่ควรคิดค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซินอีก
2.ส่วนค่าพรีเมียมอื่นๆ น่าจะปรับลดลงได้อีก 10-15 สตางค์ต่อลิตร
3.หากปรับเปลี่ยนสูตรราคาอ้างอิงน้ำมันนำเข้าจากตลาดสิงคโปร์และอ้างอิงราคาที่ไทยส่งออกน้ำมันแทน น่าจะลดราคาน้ำมันลงได้ 1 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ข้อมูลปี 2561 ไทยมีการส่งออกน้ำมันรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การอ้างอิงราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นโดยวิธี Import Parity เนื่องจากน้ำมันดิบที่ใช้ในการกลั่นของไทยส่วนใหญ่นำเข้าจากตะวันออกกลาง ซึ่งขนส่งผ่านประเทศสิงคโปร์ ทั้งนี้หากเทียบค่าขนส่งจากตะวันออกกลางมายังไทยจะสูงกว่าค่าขนส่งจากตะวันออกกลางมายังสิงคโปร์
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงของไทย จึงใช้ราคาอ้างอิงตลาดสิงคโปร์บวกค่าดำเนินการในการนำเข้า(ค่าพรีเมียม) นอกจากนี้วิธี Import Parity เป็นการสร้างเสถีรภาพความมั่นคงของน้ำมันในประเทศ โดยในกรณีที่โรงกลั่นเกิดการปิดซ่อมบำรุง หรือภาวะฉุกเฉิน ผู้ค้าสามารถนำเข้าน้ำมันจากตลาดสิงคโปร์มาใช้ได้
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
“พลังงาน” ถก ”เอ็นจีโอ” นัดแรก รื้อราคาหน้าโรงกลั่น