“กกพ.”เร่งเดินหน้าตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนสนองนโยบาย “สนธิรัตน์” คาดสรุปพื้นที่นำร่องได้แห่งแรกในเดือนธ.ค.นี้ พร้อมออกมาตรการหนุนชาวบ้านรอบๆโรงไฟฟ้าใช้ไฟฟรี ภายใน 1-2 เดือน
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนในแต่ละพื้นที่ให้มีความเหมาะสม เบื้องต้นจะตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลยังเข้าไม่ถึงไฟฟ้าหรือมีแต่ขาดความมั่นคง ในพื้นที่มีเชื้อเพลิงที่มีความพร้อมในการผลิตไฟ พร้อมกันนี้ยังจะพิจารณานำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้ามาสนับสนุนกิจการไฟฟ้าชุมชนส่วนจะเป็นรูปแบบใดคงจะต้องรอผลสรุปอีกครั้งเพื่อที่จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) คาดว่าจะสามารถกำหนดพื้นที่นำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนได้ 1 แห่งภายในเดือนธ.ค.2562
“ชุมชนมีความสำคัญจึงต้องมีส่วนร่วม และจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ที่รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) ภายใต้เงื่อนไขอัตรารับซื้อไฟฟ้าจะต้องส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนน้อยที่สุด”นายเสมอใจ กล่าว
นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต โฆษกสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า ความคืบหน้านโยบายการให้ใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าปัจจุบันกำลังศึกษาในรายละเอียดเพื่อกำหนดการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีเงินเข้ามาอยู่ที่ 2,000 ล้านบาทต่อปีว่าจะมีอัตราใดที่จะเหมาะสมรวมถึงพื้นที่ใดที่ควรจะส่งเสริม คาดว่าจะมีการสรุปภายใน 1-2 เดือนนี้ ก่อนที่จะเสนอกพช.เห็นชอบ
“ตอนนี้เราก็อยากจะทำให้เร็วที่สุด แต่ก็ต้องดูในหลายส่วน ซึ่งจะต้องจัดสรรเงินกองทุนฯ ที่จะมาใช้ เนื่องจากต้องมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำควบคู่ไปด้วยตามข้อกำหนด ซึ่งเราอาจจะสนับสนุนเป็นเงินส่วนลดหรือการกำหนดโควต้าการใช้ไฟ และกำหนดในพื้นที่ไม่เกิน 1 กิโลเมตรในรัศมีรอบโรงไฟฟ้า”นางสาวนฤภัทร กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการปรับเปลี่ยนแผนพิจารณาทบทวนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) 1.5 ล้านตัน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นั้น ปัจจุบันยังต้องรอการสรุปแผนมาจากกระทรวงพลังงาน โดย กกพ.เป็นผู้กำหนดอัตราการใช้ท่อก๊าซ แต่ไม่ได้เป็นผู้กำหนดนโยบาย ขณะที่แผนของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)ที่จะมีการพัฒนาท่อก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ใน 2 แห่งจากนครราชสีมา-ขอนแก่น และพระนครใต้-บางปะกง ตอนนี้ยังไม่ได้รับการเสนอมาจาก ปตท. ก็ต้องรอความชัดเจนก่อน.
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
“สนธิรัตน์” ลงพื้นที่คลองลัดมะยม ดันต้นแบบพลังงานสะอาดเพื่อชุมชน