ประชุมอาเซียนครั้งที่ 34 เน้นปูทางเทคโนโลยีสู่ยุคดิจิทัล

ประชุมอาเซียนครั้งที่ 34 เน้นปูทางเทคโนโลยีสู่ยุคดิจิทัล


การประชุมอาเซียนครั้งที่ 34 เน้นวางแผนรับมือยุค 4.0 การนำ AI มาทดแทนแรงงาน ขับเคลื่อนดิจิทัลสู่รายย่อย พัฒนาแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวร่วมกัน วางแผนด้านพลังงานร่วมกัน

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน(ASEAN Summit) ครั้งที่ 34 ที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 22 – 23 มิถุนายน 2562 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรกภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยต่อจากสิงคโปร์ โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วม สำหรับแนวคิดหลัก (theme) ของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยคือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) โดยผู้นำอาเซียนจะมีการหารือกันทั้งใน 3 เสาหลักของอาเซียน ทั้งด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ

สำหรับด้านเศรษฐกิจ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ยังคงเป็น 13 ประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยต้องการผลักดันให้สำเร็จในช่วงที่เป็นประธานการประชุมอาเซียนในปีนี้ นอกจากนี้การทำแผนรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 หรือ 4IR ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่เตรียมความพร้อม เตรียมรับมือในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และต้องการให้อาเซียนรับมือในเรื่องนี้ด้วย เพราะเห็นได้ชัดในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต มีโรงงานอัจฉริยะ มีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้แทนแรงงานคน ซึ่งอาเซียนจะต้องมีแผนรับมือ ไม่เช่นนั้น จะกระทบต่อภาคการผลิตในอาเซียน และจะตามโลกไม่ทัน

“อย่างไทย เรามี EEC มีการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มีการใช้เทคโนโลยี ใช้ AI ในการผลิตอยู่แล้ว ถ้าเราทำสำเร็จ เราก็จะเป็นผู้นำ เป็นการสร้างจุดแข็งให้กับไทย แล้วเรื่องนี้ ผู้ประกอบการของเรา ก็สนับสนุน เราจึงต้องผลักดันให้อาเซียน มีความร่วมมือในเรื่องนี้ให้ได้ จะคุยกันถึงการทำปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม ของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพราะมันเป็นอนาคตของอาเซียน” นางอรมนกล่าว

นอกจากนี้ ยังจะมีการขับเคลื่อนการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย จะมีการ บูรณาการการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเข้าสู่ตลาด ทำแผนผลักดันให้อาเซียนมีความเข้มแข็งด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงาน ไกด์ไลน์ การทำงาน การพัฒนาอีโคซิสเต็มรองรับ ยกตัวอย่างเช่น การออกกฎหมายเพื่อช่วยให้การค้าออนไลน์ในอาเซียนสอดคล้องกัน อย่างไทยก็มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่องเหล่านี้ อาเซียนต้องเตรียม เพราะจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้รายย่อย รายจิ๋ว ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในการทำการค้า

นางอรมนกล่าวว่า ประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ การจัดทำแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน ที่ขณะนี้อาเซียนกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บท และจะมีการกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เช่น ไปจังหวัดนี้ ไปเมืองนี้ ต้องไปบริโภคอาหารที่ร้านไหน ร้านนั้นมีจุดเด่นยังไง แล้วจะมาจัดทำแผนโปรโมต เพื่อดึงดูดให้คนไปเที่ยว ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตของชุมชนที่อยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยว

ส่วนประเด็นสุดท้าย ที่อาเซียนต้องการจะผลักดัน ก็คือ การจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนา เชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน โดยจะมีการลงนาม MOU ระหว่างศูนย์พลังงานอาเซียน และสถาบันวิจัยในประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพของอาเซียน และพัฒนาสู่การจัดตั้ง ASEAN R&D Network Center on Biofuels and Bioenergy อนาคต โดยมีเป้าหมายระยะยาว คือ ผลักดันให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในอาเซียนให้ได้ตามเป้หมาย 23% ในปี 2568

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“บิ๊กแป๊ะ”รับมีการข่าวแจ้งกลุ่มจ้องป่วน”ประชุมอาเซียน”