รองนายกฯสมคิด สั่งกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมรับลูกนโยบายเกษตรแปรรูป ช่วยเหลือผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ยกระดับสินค้าแปรรูปบุกตลาดต่างประเทศ รองรับเศรษฐกิจยุคดิจิตอล
วันนี้ (20 มิ.ย. 62) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายกับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้หลายหน่วยงาน ปรับบทบาทมุ่งเน้นหันไปช่วยเหลือภาคเกษตร ไปสู่เกษตรแปรรูป ด้วยการเข้าไปร่วมกับ ธ.ก.ส. ส่งเสริมหัวขบวนในชุมชนให้เข้มแข็งเป็นหลัก มุ่งช่วยเหลือทั้งด้านเงินทุน บรรจุภัณฑ์ การตลาด ด้วยการยกระดับหน่วยงานในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เข้าไปช่วยเหลือภาคเกษตร กระจายให้ครอบคลุม เพื่อเน้นเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยการประสานกับทุกหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือ
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รายงานว่า เตรียมดึงสถาบันเกษตรกร และหารือกับ ธ.ก.ส. เอสเอ็มอีแบงก์ ดึงสินค้าภาคเกษตร GI 99 ราย หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV)เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในชุมชน และร่วมมือกับตลาดออนไลน์ บริษัทประชารัฐรักสามัคคี เอกชนรายใหญ่ ร่วมช่วยกันดูแลเกษตรกรแปรรูป และช่วยรับซื้อสินค้าจากชุมชน ให้เป็นหน่วยการผลิต ขณะที่รายใหญ่ช่วยส่งเสริมด้านการตลาด สถาบันอาหารมาช่วยปรับปรุงพัฒนาอาหารชุมชน ด้วยแผน 3×3 ปั้นจากเกษตรกรแปรรูปกว่า 55,000 ราย นักธุรกิจเกษตร 15,000 ราย และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร 5,000 ราย นำไปสู่เกษตรแปรรูปเกษตรพันธ์ใหม่ 2,500 ราย
นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งการบริหารยุคใหม่ให้ทันประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อแต่งตั้ง ครม.ได้แล้ว จะเริ่มเดินหน้าบริหารให้เต็มที่ จึงต้องการให้ทุกหน่วยงาน ทั้งสถาบันอาหาร สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ เตรียมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง ในด้านเกษตรต้องการให้ช่วยเหลือแบบก้าวกระโดด ต้องการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน ให้เป็นภาคเกษตร 4.0 สำหรับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ต้องนำบุคคลากรที่เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ดูแลอุตสาหกรรมเป้าหมาย รองรับนโยบายดิจิตอล one Belt One Road ของจีน
หลายกรมของกระทรวงอุตสาหกรรม ควรปรับหน่วยงานระดับภาค รองรับให้เพียงพอในแต่ละภูมิภาคในการดูแลภาคเกษตร อีกทั้ง การเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น คราวหน้า ต้องมีความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบาย Open Innovation Columbus เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพผ่านไทยแลนด์ไซเบอร์พอร์ต หวังปั้นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 50 ราย ด้วยทุนเริ่มต้น 500 ล้านบาท ในส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์ สั่งการให้เดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้จัดกลุ่มเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ เพื่อช่วยเหลือรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนเพิ่มเติม
ในส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการเขตอีอีซี ในท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง เมื่อผังเมืองเตรียมประกาศบังคับใช้ในเร็วๆนี้ เพื่อทำให้การพัฒนาได้รวดเร็วมากขึ้น ด้วยการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่หรือสมาร์ทปาร์ค การนำสินค้าเกษตรแปรรูป แล้วเก็บไว้จำหน่ายผ่านการใช้ความเย็น LNG มาจัดสร้างห้องเย็นขนาดใหญ่ดูแลภาคเกษตรในภาคตะวันออก การช่วยเหลือเอสเอ็มอี การจัดการเรื่องขยะ กากของเสีย การสร้างตลาดเอสเอ็มอี
นายสมคิด ย้ำว่า รัฐบาลต้องดึงให้ภาคเอกชนมาร่วมพัฒนาในเขตที่มีศักยภาพ การนิคมอุตสาหกรรม ต้องนำอุตสาหกรรมเป้าหมายไปลงทุนในพื้นที่เหมะสม จัดหาที่ดินรองรับการตั้งนิคมฯ ของเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เพราะเขาเป็นรายย่อย เนื่องจากเอกชนระดับโลกจะไปลงทุนในเขตอุตสาหกรรมของภาคเอกชน เพื่อสร้างอนาคตให้กับรายย่อย เพื่อสร้างอนาคตให้กับคนตัวเล็ก เพื่อพัฒนาสินค้าในยุคดิจิตอล ผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ .
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ