ความสามารถแข่งขันไทยพุ่ง สูงสุดรอบ 10 ปี

ความสามารถแข่งขันไทยพุ่ง สูงสุดรอบ 10 ปี


IMD ปรับอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย พุ่งขึ้น 5 อันดับ เป็นอันดับที่สูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จาก อันดับ 30 มาเป็นอันดับ 25 เป็นผลจาก สภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ที่ปรับตัวดีขึ้นมาก

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยหรือ TMA เผล ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development (IMD) สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2562 โดยจัดอันดับทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก พบว่า เขตเศรษฐกิจที่อันดับสูงสุด 5 อันดับแรกคือ สิงคโปร์ เลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 แทนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งลดลงไปเป็นที่ 3 รองลงมาคือ ฮ่องกง สวิสเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามลำดับ

ส่วนเขตเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนที่จัดอันดับ 5 เขตเศรษฐกิจ อันดับดีขึ้นเกือบทั้งหมด สิงคโปร์อันดับ 1 มาเลเซียอันดับคงที่ 22 เช่นเดียวกับปีที่แล้ว ด้านประเทศไทยอันดับสูงขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 มาอยู่ที่อันดับ 25

สำหรับการจัดอันดับได้แบ่งเป็น 4 ด้าน ประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นใน 3 ด้าน ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ประสิทธิภาพของธุรกิจลดลง 2 อันดับ จากการจัดอันดับ 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ส่วนอินโดนีเซีย อันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากอันดับที่ 43 เป็น 32 และฟิลิปปินส์ จากอันดับที่ 50 เลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับที่ 46

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า สมรรถนะทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของภาครัฐของไทยดีขึ้น 2 อันดับ โดยด้านเศรษฐกิจการลงทุนจากต่างประเทศมีอันดับที่ดีขึ้นมาก ในขณะที่การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ ก็ส่งผลให้อันดับด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้นถึง 4 อันดับ นับว่า เป็นผลจากการที่รัฐบาลได้มีแนวทางที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในการปรับกฎระเบียบให้ทันสมัยคล่องตัว และส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในการให้บริการให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐานเชิงโครงสร้างในทุกด้าน และกำลังผลักดันต่อไปให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องและในวงที่กว้างขวางมากขึ้น

นอกจากนี้ สศช.ยังดำเนินโครงการที่เรียกว่า “การสร้างอนาคตประเทศไทย” หรือ “Futurising Thailand” ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท 101 เปอร์เซ็นต์ โครงการนี้ ทำหน้าที่ในการสื่อสารสาธารณะ ในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสาธารณชน โดยเฉพาะหลักนโยบายที่จะยกระดับขีดความสามารถทั้งในเรื่องทุนมนุษย์กฎระเบียบและการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่จะพัฒนาขีดความสามารถให้ความสามารถให้มีความทั่วถึงในระดับพื้นที่ รวมทั้งรัฐบาลได้เร่งรัดให้หน่วยดำเนินแผนงาน โครงการ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน

นางสาววรรณวีรา รัชฎาวงศ์ คณะกรรมการ ศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และกรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยที่ดีขึ้น 5 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 25 ในปีนี้ จากปีที่ผ่านมาอยู่อันดับที่ 30 ซึ่งเป็นอันดับที่สูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ผลการจัดอันดับดีขึ้น ยังมีประเด็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นรากฐานของการสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวก็มีอันดับสูงขึ้นถึง 4 อันดับจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะผลจากภาคเอกชนที่ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)

ในวันที่ 3-4 กรกฎาคมนี้ TMA จะจัดการสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2019 ในหัวข้อ Rethinking the Future ที่จะหยิบยกประเด็นสภาพการแข่งขันภายใต้บริบทใหม่ของโลก ความพร้อม และอนาคตของประเทศไทยในโลกยุคใหม่ รวมถึงการร่วมกันจัดทำโครงการต้นแบบสำหรับอนาคต

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

เพื่อไทย หนุน “ชัชชาติ” นั่งนายกฯ แทน “ธนาธร”