“พาณิชย์”ปลดล็อกส่งออก “ช้าง” หลังห้ามมา 10 ปี

“พาณิชย์”ปลดล็อกส่งออก “ช้าง” หลังห้ามมา 10 ปี


“พาณิชย์” ปลดล็อกให้ส่งออกช้างได้แล้ว หลังห้ามมา 10 ปี มอบอำนาจ “กรมอุทยานฯ” ออกใบอนุญาต คาดส่งได้กลางปีนี้ ชี้ ส่งออกเฉพาะเพื่อการศึกษาวิจัย และช้างทูตสัมพันธไมตรี

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ออกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการอนุญาตให้ส่งช้างออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 โดยช้างที่ส่งออกได้ต้องเป็นช้างที่จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณแล้วเท่านั้น และอนุญาตให้ส่งออกช้างได้ 3 กรณี คือ

1. การส่งช้างเพื่อการศึกษาวิจัย

2. การส่งช้างเพื่อสัมพันธไมตรี และ

3.การส่งส่วนต่างๆ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้มาจากช้างเพื่อศึกษาวิจัยทางวิชาการหรือเพื่อเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ

ทั้งนี้ ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวจะบังคับใช้ จนกว่าร่าง พ.ร.บ.ช้าง พ.ศ. … ของกรมปศุสัตว์จะแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ และหลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะได้มอบอำนาจให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้พิจารณาออกใบอนุญาตส่งออกต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถส่งออกช้างได้กลางปี 2562

นายอดุลย์ กล่าวว่า การส่งออกช้างเป็นประเด็นอ่อนไหว เป็นที่สนใจของประชาชนและนักอนุรักษ์ จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ดังนั้น ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ฉบับนี้ กรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และรัดกุม เพื่อรับประกันว่าช้างไทยต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับช้างโดยเฉพาะ ตามมาตรฐานสมาคมสวนสัตว์และสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำโลก (World Association for Zoos and Aquariums : WAZA) และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES)

 

 

ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่อนุญาตให้ส่งช้างออกไปนอกราชอาณาจักรมาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายไม่อนุญาตให้ส่งออกช้าง จนกว่าจะขึ้นทะเบียนช้างบ้านทั่วประเทศให้แล้วเสร็จ เพื่อป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้านแล้วส่งออกไปต่างประเทศ

“กรมฯ ตระหนักเป็นอย่างดีว่าช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาช้านาน การออกกฎหมายเกี่ยวกับการส่งช้างมีชีวิตไปต่างประเทศเป็นประเด็นที่ต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยได้ว่าต่างประเทศและผู้เกี่ยวข้องสามารถดูแลสวัสดิภาพช้างเพื่อการศึกษาวิจัยและช้างทูตสัมพันธไมตรีของไทยได้เป็นอย่างดี” นายอดุลย์กล่าว