“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อเดือน เม.ย.เพิ่ม 1.23% จากการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มอาหาร คาดแนวโน้มเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นตามกำลังซื้อ จับตาปัญหาภัยแล้ง ราคาน้ำมัน และการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน เม.ย.62 เท่ากับ 102.82 เพิ่มขึ้น 0.44% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.62 และเพิ่มขึ้น 1.23% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.61 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือน มี.ค.62 ที่เพิ่มขึ้น 1.24% ส่วนเงินเฟ้อรวม 4 เดือนของปี 62 (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 0.86%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน เม.ย.62 สูงมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.20% โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 3.33% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 3.33% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 0.29% ผักและผลไม้ เพิ่ม 4.26% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 3.39% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.66% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.75% นอกบ้าน เพิ่ม 1.80%
ส่วนหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 0.67% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.358% เคหสถาน เพิ่ม 0.52% การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.34% การขนส่งและการสื่อสาร เพิ่ม 1.06% การบันเทิงการอ่านและการศึกษา เพิ่ม 0.32% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.03%
“เงินเฟ้อเดือน เม.ย. มีสาเหตุหลักๆ มาจากการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะอาหารสด เพิ่ม 3.30% อย่างเนื้อหมู ราคาเพิ่มขึ้นเกือบทั้งประเทศ รวมถึงเป็ด ไก่ ส่วนผักสดเพิ่มสูงถึง 12.74% จากอากาศร้อน ผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง โดยที่ขึ้นมากๆ ก็ต้นหอม เพิ่ม 70% มะนาว 29% และยังมีพริกสด ถั่วฝักยาว ผักชี ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร อย่างพลังงานเพิ่ม 2.33% สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ค่าเช่าบ้านขึ้นมา 2-3 เดือนแล้ว ค่าโดยสารรถสาธารณะก็เพิ่ม” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักสินค้ากลุ่มอาหารและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.62 และเพิ่มขึ้น 0.61% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.61 และเฉลี่ย 4 เดือน เพิ่มขึ้น 0.62%
สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือน เม.ย.62 พบว่า มีราคาสูงขึ้น 243 รายการ เช่น เนื้อสุกร ข้าวสารเจ้า ข้าวราดแกง อาหารเช้า กับข้าวสำเร็จรูป แก๊สโซฮอล์ 91-95 ค่าเช่าบ้าน และค่ากระแสไฟฟ้า ไม่เปลี่ยนแปลง 84 รายการ และลดลง 95 รายการ เช่น กระเทียม เงาะ ส้มเขียวหวาน ลองกอง กล้วยน้ำว้า องุ่น กุ้งขาว น้ำยาปรับผ้านุ่ม และแป้งทาผิวกาย
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อจากนี้ไปจะยังคงเพิ่มขึ้นจากการบริโภคที่สูงขึ้น แม้ว่ารายได้ภาคเกษตรจะลดลง แต่ก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล โดยต้องจับตาปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้ากลุ่มอาหารที่จะขึ้นๆ ลงๆ ต่อเนื่องตลอดทั้งปี
ส่วนปัจจัยราคาน้ำมัน มองว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบมาก เพราะในไตรมาสที่ 2-4 ของปีที่แล้ว ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ฐานปีก่อนสูง การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในปีนี้ จึงไม่น่าจะขึ้นมาก โดยคาดว่าอัตราเฉลี่ยของน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
“ขณะที่ค่าแรงยังประเมินผลต่อเงินเฟ้อไม่ได้ เพราะยังไม่มีการปรับขึ้น ต้องรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างก่อน แต่เห็นว่าควรจะมีการปรับขึ้นค่าแรง แต่ไม่ควรจะเท่ากันทั้งประเทศ” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
จับตาครม.เติมเงินเข้าบัตรคนจนวงเงิน 1.3 หมื่นล้าน