คต. แนะผู้ส่งออกใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดีย ขยายตลาด ชี้ช่อง “เครื่องประดับ นาฬิกาข้อมือและนาฬิกาพก ผลไม้ ปลาและอาหารทะเลปรุงแต่ง” เป็นสินค้าที่มีโอกาสสูง
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยและอินเดียมีความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันทั้งในระดับทวิภาคี คือ ความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFA) และระดับภูมิภาค คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ซึ่งกรมฯ มีข้อแนะนำให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยต้องพิจารณาว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบความตกลง TIFTA หรือ AIFTA โดยพิจารณาจากกรอบความตกลงที่ให้สิทธิประโยชน์สูงสุด หรือมีเงื่อนไขถิ่นกำเนิดสินค้าที่สอดคล้องกับรูปแบบการผลิตสินค้าและการค้าของตน เพื่อขยายโอกาสส่งออกไปยังตลาดอินเดีย
“อินเดียเป็นตลาดที่น่าจับตามองทั้งในเชิงขนาดและกำลังซื้อ เป็นจุดหมายปลายทางของประเทศต่างๆ ที่ต้องการเข้าไปเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดจากผู้ผลิตภายในประเทศของอินเดีย ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการไทย ควรจะใช้ความได้เปรียบจากการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าอินเดีย อันเนื่องจากการมีความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน เป็นเครื่องมือในการเจาะตลาดอินเดียเพิ่มมากขึ้น”
ทั้งนี้ ปัจจุบันสินค้ากว่า 79% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกจากไทยได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีนำเข้าอินเดีย (ภาษีนำเข้า 0%) โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรดังกล่าว ประกอบด้วย ลวดทองแดงเจือ มอนิเตอร์และเครื่องฉาย เคมีภัณฑ์ เหล็ก ชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ โดยในปี 2561 มูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอยู่ที่ 3,821.43 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.90% โดยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 51.28%
อย่างไรก็ตาม อินเดียมีข้อผูกพันจะต้องยกเลิกและลดหย่อนภาษีนำเข้าสินค้ากว่า 4,700 รายการที่ส่งออกและมีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้า โดยสินค้าไทยที่จะถือว่ามีคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) คือ สินค้าที่ผลิตขึ้นหรือได้มาทั้งหมดภายในประเทศไทย (WO) หรือสินค้าที่ผ่านการแปรสภาพอย่างเพียงพอในประเทศไทยโดยมีสัดส่วนวัตถุดิบภายในภูมิภาคไม่น้อยกว่า 35% ของมูลค่าราคา FOB และกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศส่งผลให้วัตถุดิบนำเข้าเกิดการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรในระดับ 6 หลัก
นายอดุลย์กล่าวว่า จากการตรวจสอบการได้สิทธิพิเศษภายใต้ FTA พบว่า กลุ่มสินค้าเครื่องประดับ นาฬิกาข้อมือและนาฬิกาพก ผลไม้ ปลาและอาหารทะเลปรุงแต่ง เป็นสินค้าที่อินเดียลดภาษีให้กับไทย กรมฯ ขอให้ผู้ส่งออกอย่าละเลยที่จะขอรับสิทธิการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าอินเดีย เพื่อสร้างแต้มต่อเหนือคู่แข่งขันในตลาดอินเดีย โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับนำไปแสดงต่อศุลกากรอินเดียเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรได้จากกรมฯ
สำหรับการค้าไทย-อินเดียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกไปยังอินเดียในปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่า 130% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกไทยโดยเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 5.6% ต่อปี การเติบโตของมูลค่าส่งออกดังกล่าวเป็นผลมาจากการขยายตัวของกำลังซื้อภายในประเทศอินเดีย การผ่อนคลายนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายใน และการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและอินเดียทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถติดต่อ สอบถามรายละเอียด รวมถึงขอคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 หรือที่กองสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 02-547-4872 หรือเว็ปไซต์กรมการค้าต่างประเทศ http://www.dft.go.th
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
พปชร. วอนหยุดใส่ร้าย หวั่นบ้านเมืองขัดแย้งไม่จบ