สทร.วอนแบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาท

สทร.วอนแบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาท


สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย พบแบงก์ชาติ ขอให้ดูแลค่าเงินบาทไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค หรือหากอ่อนกว่าก็จะคลายความกังวลให้กับผู้ส่งออก ระบุ ส่งออกทางเรือเดือน ม.ค.62 หดตัว 5.7%

วันนี้ (5 มี.ค.62 ) น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) พร้อมทีมผู้บริหาร และคณะทำงาน สทร. ได้เข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือถึงแนวทางการดูแลผลกระทบกับเศรษฐกิจและภาคธุรกิจนำเข้า-ส่งออก จากปัญหาค่าเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงปีนี้ และแนวทางในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน

“สรท.ได้ขอให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาค แต่หากอ่อนค่าลงได้มากกว่าภูมิภาค จะทำให้ผู้ส่งออกของไทยคลายความกังวลและช่วยให้สามารถบริหารต้นทุนได้ง่ายขึ้น” น.ส. กัณญภัค กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าค่าเงินบาทในปีนี้ยังมีความผันผวน จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าและอ่อนค่า ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยตั้งแต้เดือน พ.ย.2561 ให้ขยายตัวติดลบต่อเนื่อง จึงกังวลว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโตต่ำกว่า 5% ตามที่ สรท.คาดการณ์ไว้ โดยจะต้องดูตัวเลขการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่จะดูแลไม่ให้ติดลบ และจากนั้นจะทบทวนเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้ สรท.ยอมรับว่า ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีมีความเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ เพราะต้องมองทิศทางในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ซึ่งหลังจากได้ข้อมูลจาก ธปท.แล้วก็เข้าใจ เพราะ ธปท.ดูแลหลายภาคส่วน และจะไปย้ำให้สมาชิกใช้เครื่องมือการทำประกันความเสี่ยงและให้ซื้อขายเป็นเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ซึ่งปัจจุบัน ธปท.เปิดให้ทำการค้าขายต่างประเทศด้วยเงินสกุลท้องถิ่น 4 สกุล ประกอบด้วย หยวนจีน, เยนญี่ปุ่น, รูเปียห์อินโดนีเซีย และริงกิตมาเลเซีย พร้อมกันนี้ยังต้องการเห็นประเทศในอาเซียนการค้าขายเงินสกุลของอาเซียนเองด้วย เพราะสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปอาเซียนมีสูงเกือบ 25%

สำหรับการส่งออกในเดือนม.ค.62 มีมูลค่า 18,994 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 5.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 616,104 ล้านบาท หดตัว 5.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

ในขณะที่การนำเข้าในเดือนม.ค.62 มีมูลค่า 23,026 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 14.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 756,664 ล้านบาท ขยายตัว 14% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนม.ค.62 ประเทศไทยขาดดุลการค้า 4,032 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 140,561 ล้านบาท