เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) พร้อมคณะทำงาน เดินทางเข้ายื่นหนังสือกล่าวโทษ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้กกต.ไต่สวนยุบพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยนายวิญญัติ กล่าวว่า ตนเองได้เดินมายื่นข้อร้องเรียนใน 2 ประเด็น เรื่องแรก อยากจะขอให้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณายุบพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากการกระทำของพรรค พปชร.มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคลที่มีวัตถุประสงค์จัดตั้งพรรคการเมืองโดยผิดกฎหมาย มีการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง และใช้ตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐโดยมิชอบ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้สมัครหรือพรรคการเมือง โดยอดีตรัฐมนตรีของพรรคพปชร.กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระกษัตริย์เป็นประมุข โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ได้อำนาจการปกครองมาจากการปฏิวัติ เป็นบุคคลที่มีที่มาโดยมิชอบ ยึดอำนาจมาบริหารประเทศต่อ ซึ่งไม่เป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตย และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากกกต.เห็นสอดคล้องกับคำร้องของตน ขอให้ซึ่ใช้มาตรา92(2)ให้เท่าเทียมกับที่พิจารณากับอีกพรรคการเมืองหนึ่ง ดำเนินการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
นายวิญญัติ กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า นอกจากนี้ตนยังขอยื่นคำร้องคัดค้านการประกาศชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯของพปชร. เนื่องจากก่อนและหลังการประกาศพรฎ.ให้มีการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รับเงินเดือนและยังมีตำแหน่งกรรมบริหารในหลายองค์กร ซึ่งมีค่าตอบแทนจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. การประกาศรายชื่อพล.อ.ประยุทธ์ในบัญชีรายชื่อจึงมิชอบ จึงได้ส่งเอกสารให้กกต.พิจารณาความผิดตาม มาตรา 92 (2) ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากกกต.รับคำร้องแล้วประวิงเวลาหรือพยายามหาทางออกที่ไม่เป็นไปตามครรลอง ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 และสามารถล่ารายชื่อประชาชน 20,000 รายชื่อเพื่อถอดถอนกกต.ได้ พร้อมกับยืนยันว่าการใช้สิทธิครั้งนี้มาในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ได้มาในนามของใครหรือกลุ่มใด