“สมคิด”ดันงบ 1.2 หมื่นล้าน เร่งปฏิรูปภาคเกษตร

“สมคิด”ดันงบ 1.2 หมื่นล้าน เร่งปฏิรูปภาคเกษตร


วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อติดตามแผนบูรณาการและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ประจำปี 2563 ซึ่งรัฐบาลอนุมัติให้ปีนี้เป็นปีแรก ในวงเงิน 12,000 ล้านบาท โดยบูรณาการ 6 กระทรวงร่วมกันปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศ โดยมี นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นฝ่ายรวบรวมและเลขานุการงบประมาณบูรณาการ ร่วมกับ ก.มหาดไทย (มท.) ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก.อุตสาหกรรม ก.วิทยาศาสตร์ ก.พาณิชย์ และก.ศึกษาธิการ การเดินทางมาของรองนายกฯ ครั้งนี้เพื่อร่วมจัดทำงบประมาณบูรณาการงบร่วมกัน โดยจะกำหนดแผนปฏิบัติการเกษตรให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อให้ทันใช้ในฤดูกาลผลิตปีนี้ โดยกระทรวงเกษตรฯ ต้องกำหนดชนิดพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่มีปัญหาราคาตกต่ำซ้ำซาก และเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร ประชาชน สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ผลิต ผู้ประกอบการชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 7,255 ตำบล เป้าหมาย เพื่อลดปัญหาความยากจนของประชาชน โดย 80% ของกลุ่มเป้าหมายต้องมีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน และกลุ่มเป้าหมายต้องมีรายได้สูงขึ้นเฉลี่ย 10%

“งบประมาณ 12,000 ล้านนี้ เราต้องไปดูว่าจะปลูกอะไร แล้วผมจะไปกระทรวงเหล่านี้ ให้มีตรงนี้อยู่ในงบกระทรวงของเขา ฉะนั้นหัวใจจริงๆที่จะบอกกับเขาว่า ไม่ใช่แค่ของบแล้วพูดกว้างๆ แต่ต้องชี้ออกมาเลยว่าจะมีสินค้าตัวไหนเป็นหลัก ที่ต้องการจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง แล้วก็จะแยกไปตามชนิดสินค้าเหล่านี้ และก็มาร่วมกันปรับงบประมาณนี้ให้ได้ อย่างเช่น ข้าวโพดที่ทำเป็นอย่างแรก อันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น ถ้าเราสามารถดึงภาคเอกชน ดึงการตลาดมาร่วมเราสามารถกำหนดทิศทางการผลิตได้มากกว่านี้แน่นอน” นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า การใช้งบประมาณดังกล่าวจะเป็นไปตามแผนการผลิตพืชแต่ละชนิด โดยต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลโดยรวมของประเทศ (Big Data) ทำให้ทราบความต้องการของตลาด จึงนำไปจัดสรรพื้นที่การผลิต เพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นเกินจนราคาตกต่ำอย่างที่เป็นอยู่ สำหรับรูปแบบการทำเกษตรกรรมยังคงทำเป็นแปลงใหญ่ โดยสนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน บริษัท (จำกัด) ซึ่งจะลดต้นทุนการผลิตได้ทั้งในการหาปัจจัยการผลิตราคาถูก การใช้เครื่องจักรกลที่ทันสมัยในการเตรียมแปลงและเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ ยังจะเชิญนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้ความรู้ในการพัฒนาสินค้าการเกษตร และเชิญภาคเอกชนมารับซื้อจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง จับเป็นคู่ค้ากัน ซึ่งเป็นการรับประกันว่า หากเกษตรกรปลูกพืชใด ๆ ตามคำแนะนำของกระทรวงเกษตรฯ จะมีตลาดแน่นอน อีกทั้งยังขายได้ราคาดี ทั้งนี้การปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรจะเป็นผลสำเร็จต่อเมื่อลดปัจจัยเสี่ยงของเกษตรกรต้องทำให้เกษตรกรมั่นใจ จึงจะยอมปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชต่าง ๆ ตามคำแนะนำ

ทั้งนี้ การบูรณาการงบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนและเกษตรกร มีรายได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากร สร้างความเข้มแข็ง ของชุมชนสร้างอาชีพและรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความมั่นคง ตลอดจน พัฒนาผลิตภัณณฑ์ชุมชน โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญหาท้องถิ่น เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์

ด้าน นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า หลักการสำคัญของนโยบายนี้ จะกำหนดพื้นที่ปลูกพืชหลักให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก สำรวจศักยภาพการจัดสรรน้ำซึ่งรับผิดชอบโดยกรมชลประทาน อีกทั้งจะสำรวจความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยได้สั่งการให้อัครราชทูตฝ่ายการเกษตรใน 11 ประเทศ สำรวจความต้องการของตลาดโลกว่า ต้องการผลผลิตสินค้าทางการเกษตรและแนวโน้มราคาอย่างไร จากนั้นจึงจะนำมาจัดสรร ปริมาณการผลิต โดยจะดำเนินการในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา มะพร้าวน้ำหอม เป็นต้น

“สำหรับพืชที่จะส่งเสริมการปลูกอย่างเป็นรูปธรรมลักษณะเดียวกับการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา คือ ถั่วเหลือง ซึ่งที่ผ่านมาผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต้องนำเข้า แต่เกษตรกรไม่นิยมปลูก เนื่องจากเก็บเกี่ยวยาก หากดำเนินการในรูปแบบแปลงใหญ่ใช้เครื่องจักรกลเป็นเครื่องมือตั้งแต่การเตรียมดินจนเก็บเกี่ยวผลผลิตจะทำได้ง่าย ลดต้นทุนการผลิตได้ อีกทั้งราคาสูง จากนั้นจะขยายรูปแบบนำไปใช้กับการทำปศุสัตว์และประมง” นายกฤษฎา กล่าว

สำหรับแนวทางการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ให้สามารถสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและได้รับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพไม่น้อยกว่า 600,000 ราย ภายใต้งบประมาณบูรณาการ 6,804 ล้านบาท ,พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยการส่งเสริมแปรรูปสินค้าเกาตรในระดับชุมชน และพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ครอบคลุมจำนวนผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 60,000 คน หรือ 2,000 กลุ่ม

จำนวนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาไม่น้อยกว่า 7,000 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้งบประมาณ 3,471.4 ล้านบาท และ พัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกการตลาด โดยการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสถาบัน พัฒนากลไก สหกรณ์ รานค้าชุมชน วิสาหกิจุมชน เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงภาคเกษตรภายใต้งบประมาณ 1,801.11 ล้านบาท

https://www.youtube.com/watch?v=Pk6cn3_BeMM&feature=youtu.be