ศูนย์วิจัยธุรกิจและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย (SME Poll) เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จำนวน 1,800 วิสาหกิจทั่วประเทศ ในหัวข้อเรื่อง “ของขวัญปีใหม่ 2562 ที่ SME อยากได้จากรัฐบาล” พบว่า
ของขวัญปีใหม่ที่ SME อยากได้จากรัฐบาลมากที่สุด ร้อยละ 53.56 ได้แก่ “อยากให้รัฐบาลช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น”
รองลงมา ร้อยละ 26.67 อยากให้รัฐบาลพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นและสงบสุข
ร้อยละ 13.22 อยากให้จัดให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ
ร้อยละ 6.56 อยากให้รัฐบาลช่วยเพิ่มสวัสดิการให้แก่ประชาชน
ดร.ณัฐพล ประดิษฐผลเลิศ ประธานศูนย์วิจัยธุรกิจและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 59.39 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 มีภาวะถดถอยลงเมื่อเทียบกับปี 2560 ร้อยละ 24.61 เห็นว่า เศรษฐกิจยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2560 และร้อยละ 16.00 เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปี 2561 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ด้านมุมมองของผู้ประกอบการที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในปี 2562 ส่วนใหญ่คาดหวังว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยร้อยละ 54.89 เห็นว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตขึ้น ขณะที่ ร้อยละ 26.00 เห็นว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2561 ที่ผ่านมา และร้อยละ 19.11 สะท้อนความกังวลว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 น่าจะยังซบเซาและถดถอยลงกว่าปีที่ผ่านมา
โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ SME ต้องเผชิญปัญหาและอุปสรรคนานัปการ โดยปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ไทยหลักๆ ได้แก่
ร้อยละ 15.74 เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด
รองลงมา ร้อยละ 14.99 ระบุว่า ปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก
ร้อยละ 10.73 เห็นว่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ
ร้อยละ 10.15 ระบุปัญหาเรื่อง ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น
ร้อยละ 9.05 กล่าวว่าจำหน่ายสินค้าได้ในราคาที่ลดลง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ส่งผลกระทบและอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขโดยด่วน อาทิ ปัญหาการเข้ามาของทุนต่างชาติเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ราคาน้ำมัน ความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ รูปแบบและพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่สูง นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง และอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
ด้านนโยบายที่อยากผู้ประกอบการอยากให้รัฐบาลดำเนินการมากที่สุดเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ นโยบายช่วยเหลือ SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ (ดอกเบี้ยต่ำ/ไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กที่มีเป็นจำนวนมากซึ่งอยากเข้าถึงแหล่งเงินทุน-เงินกู้มากขึ้น
รองลงมาได้แก่ นโยบายที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้ โดยร้อยละ 11.58 อยากให้รัฐบาลมีนโยบายด้านมาตรการลดหย่อนภาษีภาคธุรกิจ สำหรับธุรกิจท้องถิ่นขนาดเล็ก/วิสาหกิจชุมชน
ร้อยละ 10.21 อยากได้นโยบายการช่วยเหลือ SME ที่เคยมีภาระเรื่องระบบเครดิตบูโร เพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้มากยิ่งขึ้น
ร้อยละ 10.06 อยากให้รัฐบาลกำหนดนโยบายด้านการส่งเสริม/สนับสนุนด้านการค้าออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น
นโยบายที่สำคัญอื่นๆ อาทิ นโยบายการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาพัฒนาธุรกิจ SME นโยบายสนับสนุน SME ทางการผลิต ให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นโยบายสนับสนุนระบบโปรแกรมบัญชี เพื่อเข้าสู่การจัดทำบัญชีชุดเดียว นโยบายสนับสนุนเรื่องค่าแรงเพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการ และนโยบายเพื่อลดภาระด้านประกันสุขภาพในระบบประกันสังคม เป็นต้น
ด้านมาตรการที่ผู้ประกอบการอยากได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
ร้อยละ 27.51 อยากให้มีมาตรการสนับสนุนแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ
ร้อยละ 22.40 อยากให้มีมาตรการช่วยส่งเสริมทางด้านการตลาด
ร้อยละ 19.49 อยากให้ส่งเสริมมาตรการด้านภาษีเพื่อ SME
ร้อยละ 17.90 อยากให้รัฐบาลช่วยส่งเสริมด้านความรู้ในการดำเนินธุรกิจ
ร้อยละ 12.71 อยากให้รัฐบาลมีมาตรการที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
https://www.thaiquote.org/content/66157