นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมร่วมกับผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่มีวงเงินลงทุนขนาดใหญ่ 18 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายในปี 62 เพื่อให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่นับเป็นกลไกหลักในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2562
ทั้งนี้ หากเร่งรัดการลงทุนรัฐวิสาหกิจ อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1 และ 2 ให้เป็นไปตามแผน จะทำให้จีดีพีในปี 62 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 แม้ว่าการท่องเที่ยวจะเริ่มดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา แต่เป็นปัจจัยเหนือการควบคุม
นอกจากนี้ หลังจากไปการเดินทางไปพบปะกับนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งต้องการให้รัฐบาลผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ไทยแลนด์ 4.0 และนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ แม้จะอยู่ในช่วงเลือกตั้ง
“ดังนั้นจึงไม่อยากให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเกียร์ว่าง หากใครยังไม่ยอมทำงานจะขันเกียร์ให้เดินหน้าเอง เพราะยังมีเวลาอีก 5-6 เดือนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วเสร็จ และไม่ต้องมาอ้างว่าเศรษฐกิจชะลอตัว ขอปรับลดเป้าหมายการลงทุน การทำให้เป็นเป้าหมายลดลง หากทำเช่นนั้นจะแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ โดยเฉพาะเวียดนาม เพราะขณะนี้ได้พัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิตอล แรงงานคุณภาพยุคใหม่ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หากไทยไม่เร่งดำเนินการนักลงทุนจะหนีไปเวียดนามจำนวนมาก เพราะต้นทุนต่ำกว่า ช่วงนี้จึงเดินหน้าติดตามงานหลายกระทรวงเศรษฐกิจ ทั้งอุตสาหกรรม พรุ่งนี้ไปกระทรวงพาณิชย์ วันจันทร์ไปติดตามงานกระทรวงคมนาคม “นายสมคิดกล่าว
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจว่า กรอบลงทุนทั้งปีของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแล มีมูลค่าสูงถึง 395,664 ล้านบาท โดยเป็นของรัฐวิสาหกิจที่มีวงเงินลงทุนขนาดใหญ่ 18 แห่ง จำนวน 386,191 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 98 ของกรอบลงทุนทั้งหมด
ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจ 18 แห่ง ดังกล่าวมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมปี 2562 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 – มกราคม 2562 จำนวน 34,819 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของแผนการเบิกจ่ายสะสม หรือประมาณ 59,000 ล้านบาท ถือว่าการเบิกจ่ายค่อนข้างล่าช้า โดยเฉพาะการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาสนามบิน
จึงเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ให้ได้ตามแผนงาน ที่มีอยู่ให้มาลงทุนในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ให้มากขึ้น มอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัด ปรับปรุงกรอบการลงทุนในปี 2562 เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น พร้อมให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจกำหนดให้มีการพิจารณาการเบิกจ่ายงบลงทุนในการประชุมคณะกรรมการทุกครั้ง และกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของการเบิกจ่ายงบลงทุนในการประเมินผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ โดยให้กำหนดน้ำหนักที่สูงสำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีการลงทุนสูง