ไตรมาส 4 ปี 61 ดัชนี SME พาเหรดปรับขึ้น

ไตรมาส 4 ปี 61 ดัชนี SME พาเหรดปรับขึ้น


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank แถลงดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SME และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SME ประจำไตรมาสที่ 4/2561 จาก 1,242 ตัวอย่างทั่วประเทศ
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ไตรมาส 4/2561ว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 43.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2561
ส่วนไตรมาส 1/2562 คาดจะเพิ่มอีกไปอยู่ที่ 43.9
ด้านดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ไตรมาสที่ 4/2561 อยู่ที่ระดับ 50.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดการณ์ไตรมาส 1/2562 จะปรับเพิ่มอีกไปอยู่ที่ 50.6
ด้านดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ไตรมาสที่ 4/2561 อยู่ที่ระดับ 52.8 ปรับตัวลดลง 0.3 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดการณ์ไตรมาส 1/2562 จะเพิ่มไปอยู่ที่ 53.1
โดยภาพรวมแล้ว ทั้ง 3 ดัชนีพบว่ากลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว.ดัชนีปรับขึ้นสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว.
นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “จาก 3 ดัชนีข้างต้น นำมาสู่ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SME ไตรมาสที่ 4/2561 พบว่า อยู่ที่ระดับ 49.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับจากไตรมาส 3/2561 เป็นต้นมา และคาดว่าในไตรมาสที่ 1/2562 จะปรับเพิ่มขึ้นอีกไปอยู่ที่ระดับ 49.2 และยังพบว่ากลุ่มลูกค้า ธพว.ดัชนีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเมื่อเที่ยบกับกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้า”

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. หรือ SME Development Bank กล่าวว่า “จากการสำรวจ ผู้ประกอบการ SME ที่เป็นลูกค้าของ ธพว.จะมีค่าเฉลี่ย ทั้งดัชนีสถานการณ์ธุรกิจฯ ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจฯ และดัชนีความสามารถในการแข่งขันฯ สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว.
ดังนั้น จึงบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า แนวทางการสนับสนุนจะให้เฉพาะเงินทุนอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ และไม่ยั่งยืน จำเป็นต้องให้ความรู้ และยกระดับคุณภาพชีวิตควบคู่ไปด้วย
ดังนั้น SME D Bank จึงยึดยุทธศาสตร์มอบ “3 เติม” ให้แก่ SME ไทย ได้แก่
1.เติมทักษะ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น อบรมสัมมนา จับคู่ธุรกิจ พี่เลี้ยงมืออาชีพ เป็นต้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย
2.เติมทุน ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งธนาคารได้รับมอบหมายจากรัฐบาล เช่น สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 ดอกเบี้ยเพียง 0.08%ต่อเดือน หรือ 1% ต่อปี คงที่นาน 7 ปี (ตลอดอายุสัญญา) กู้ 1 ล้านบาทผ่อนเพียง 410 บาทต่อวัน สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ เพื่อธุรกิจเกษตร แปรรูปอาหาร ท่องเที่ยวชุมชน ค้าปลีก-ค้าส่ง และอาชีพอิสระ บุคคลธรรมดา ดอกเบี้ยปีที่ 1-3 เพียง 0.42% ต่อเดือน ถ้าเป็นนิติบุคคล เหลือเพียง 0.25% ต่อเดือน เป็นต้น
3.เติมคุณภาพชีวิต ช่วยให้เข้าถึงสิทธิ์ประโยชน์และสวัสดิการภาครัฐ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงในอาชีพ และลดภาระให้ครอบครัว
ซึ่งจากการมอบ 3 เติมดังกล่าว จะช่วยยกระดับเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เอสเอ็มอี สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง และเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง”
ส่วนความต้องการความช่วยเหลือ สนับสนุนหรือพัฒนากิจการจากภาครัฐนั้น กลุ่มตัวอย่างระบุว่า
ด้านพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น กระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านสินเชื่อ เช่น การปล่อยสินเชื่อ ขั้นตอนเอกสาร
ด้านหนี้สิน เช่น โครงสร้างหนี้ หนี้สินครัวเรือน หนี้นอกระบบ
ด้านภาษี เช่น การลดอัตราภาษี โครงสร้างภาษี
ด้านการศึกษา เช่น พัฒนาการเรียนรู้ จัดอบรมให้ผู้ประกอบการ
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

https://www.thaiquote.org/content/65551