“สมคิด” จับมือกับเมืองท้องถิ่นญี่ปุ่น สานความร่วมมือการค้า การลงทุน

“สมคิด” จับมือกับเมืองท้องถิ่นญี่ปุ่น สานความร่วมมือการค้า การลงทุน


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นักลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองประเทศได้มีการเชื่อมความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาล โดยช่วง 1 ปีไทยมีนโยบายความร่วมมือกับระดับท้องถิ่นหลายจังหวัด จากการเดินทาง ไปจังหวัดฟูกุโอกะ มิเอะ และเมืองนาโกยา ในจังหวัดไอจิ พร้อมกับการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น (HLJC) ครั้งที่ 4 ได้ปรับกลยุทธ์เพิ่มความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับท้องถิ่นญี่ปุ่น เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ของการทำธุรกิจที่สามารถไปเสริมให้กับไทยได้

การเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 30 ม.ค.-2 ก.พ. 2562 ได้พบปะกับผู้บริหารท้องถิ่นใน 3 จังหวัดคือ จังหวัดโอซากา วากายามะ และเกียวโต รวมถึงผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคคันไซ โดยเฉพาะการเป็นฐานที่ตั้งของอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ชิ้น ส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล

ในการหารือกับนายโยชิโนบุ นิซากะ (Yoshinobu Nisaka) ผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ ทราบว่านายนิซากะ จะเดินทางไปเยือนประเทศไทยในช่วงเดือน พ.ค. ซึ่งทางจังหวัดต้องการเชื่อมความสัมพันธ์กับทางไทย รวมถึงทำบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ของไทย เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนของ นักลงทุนทั้งสองประเทศ โดยได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว รับไปหารือกับทางนายนิซากะว่าต้องการให้มีรายละเอียดในเนื้อหาข้อตกลงส่วนใดบ้าง

ก่อนหน้านี้จังหวัดวากายามะได้ลงนามความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันคนไทยยังรู้จักจังหวัดแห่งนี้น้อยมาก ทั้งที่เป็นเมืองที่ น่าสนใจและเดินทางจากจังหวัดโอซากาไปไม่ไกล โดยหลังจากนี้ทางจังหวัดจะได้ร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทยมายังจังหวัด และจากจังหวัดไปยังประเทศไทยมากขึ้น

ขณะที่การหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด เกียวโตนั้น จะมีความร่วมมือกันมากขึ้นเพราะการลงทุนนั้นยังมีความร่วมมือน้อย คนไทยรู้จักเกียวโตเฉพาะด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ กล่าวว่า นักลงทุนในจังหวัดมีความสนใจประเทศไทย และต้องการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างระดับท้องถิ่นกับท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมาดำเนินได้ยาก ดังนั้นหากมีการลงนามเอ็มโอยูกับหน่วยงานระดับรัฐบาลอย่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นช่องทางความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนในระดับจังหวัดของไทยได้สะดวกขึ้น อนาคตจะทำให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

นายสมคิด กล่าวอีกว่า ความร่วมมือ ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลท้องถิ่น ในจังหวัดต่างๆ ที่มีความก้าวหน้าในเรื่อง อุตสาหกรรม เทคโนโลยีทันสมัย ซึ่ง ในปี 2561 ที่ผ่านมาการใช้แนวทางนี้ ได้ผลตอบรับที่ดีเพราะความร่วมมือ ดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยต่อยอดการพัฒนาทั้งด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ที่ทันสมัยของไทยด้วย