พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แถลงผลการดำเนินงานปีที่ 4 ของรัฐบาล ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันนี้(1 ก.พ. 62) ตอนหนึ่งว่า ขอพูดถึงหลักการในการตัดสินใจลาออกหรือไม่ลาออก ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการรับหรือไม่รับเป็นหนึ่งในรายชื่อบัญชีนายกฯ ซึ่งการรับหรือไม่รับเสนอชื่อในบัญชีนั้น เป็นเรื่องของนโยบายว่ารับได้หรือไม่ หากรับได้ก็จะดูว่าปรับแก้อะไรได้บ้าง ถ้าแก้ไม่ได้ก็ไม่เข้ามาอยู่บ้านดีกว่า
ดังนั้นหลักการที่จะพิจารณาว่าจะลาออกหรือไม่ลาออก ขอให้จำคำพูดไว้ว่า ทั่วโลกทั้งที่เป็นระบอบประชาธิปไตยและสังคมนิยม ผู้นำและทุกรัฐบาลเมื่อมีการเลือกตั้งไม่มีใครลาออก เช่น นายบารัค โอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐ ในการลงเลือกตั้งครั้งที่ 2 และนายสี จิน ผิง ประธานาธิบดีจีน รวมถึงประธานาธิบดีที่อยู่ในอาเซียน มีใครลาออกหรือไม่ ขอให้ตอบมา ดังนั้นอย่าไปเขียนแบบนี้อีก
“หลักการมันเป็นแบบนี้ รัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่มีฉบับไหนเขียนว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง ผู้ที่อยู่ในรัฐบาลหากมีการเลือกตั้งต้องลาออก อย่าเอาเรื่องอื่นมาบังคับผมมากนัก ต้องดูหลักการว่าอย่างไร รัฐธรรมนูญไทย2475 ถึงปัจจุบันก็ไม่ได้กำหนดว่าให้ลาออก และนายกฯก็ไม่มีใครลาออกเลยใช่หรือไม่ ปี 54 ใครเป็นนายกฯ ลาออกหรือเปล่า ก็ไม่ออก ปี 2557 นายกฯ อีกคนกับครม.ลาออกไหม ไม่ออก จึงอย่ามาพูดส่งเดช แต่ 4 รัฐมนตรียังไม่มีความผิดอะไรเลย ขอลาออกเพราะอยากไปทำการเมืองอย่างเต็มที่ ทั้งที่อยู่ได้ตามกฎหมาย จึงอย่าไปไล่ล่ากันมากนัก เดี๋ยวจะไล่ล่ารัฐมนตรีออก จะไล่นายกฯ ออกกฎหมายมาแบบนี้มาไล่ดูสิผมไม่ได้ท้าทายแต่ผมไม่ออก”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อปี 54 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งจะไม่พูดชื่อแล้ว ที่ได้แข่งขันกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำไมแพ้ เป็นรัฐบาลหรือเปล่า แสดงว่าการเป็นรัฐบาลไม่น่าจะทำให้ได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นมา ขึ้นอยู่กับรัฐบาลมีผลงานหรือไม่มีผลงาน หากไม่มีประชาชนก็ไม่เลือกอยู่แล้ว เขาก็ไปคาดหวังสิ่งใหม่ๆ ที่พูดออกมาทั้งจริงบ้างและไม่จริงบ้าง นี่คือการเมืองไทย แต่นักการเมืองประเทศอื่นก็เคารพกติกา ไม่มีใครมาถกเถียงในเรื่องนี้
สำหรับประเด็นว่าทำไมมีการโจมตีรัฐบาลและ คสช.มากขึ้น นี้เป็นลักษณะการเมืองไทย ที่เป็นแบบนี้ ปฏิรูปไม่ได้ มีกระบวนการโจมตีเป็นขั้นตอน ทั้งอยากเลือกตั้ง เลื่อนเลือกตั้ง และห้ามเลื่อนเลือกตั้งอะไรต่างๆ ซึ่งยังไปเป็นเครื่องมือให้คนเหล่านี้อยู่ได้ อย่างไรก็ตามทุกอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่ที่นายก แต่อยู่ที่กระบวนการทางกฎหมายและโรดแม็พ แต่ในวันที่ 24 ก.พ. มีงานพระราชพิธี จึงต้องขยับออกไปอีก หากอยากเข้ามาก็ต้องยอมรับกติกาตรงนี้ได้
ทั้งนี้รัฐบาลรักษาการ และรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม แตกต่างที่ไม่สามารถโยกย้ายข้าราชการโดยไม่จำเป็น หากไม่จำเป็นก็ไม่อยากย้ายและห้ามใช้งบประมาณโดยมีผลผูกพัน ซึ่งหากไม่จำเป็นก็ไม่ใช่ แต่บางอย่างมีความจำเป็น เช่นปี 2557 ไม่มีงบฯใช้ ไม่มีเงินจ่ายข้าราชการ ตนก็ต้องเข้ามาเร่งทำงบฯ 57 และ 58 ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญมาตรา 264 และ 265 ระบุไว้ว่า ให้นายกฯ และหัวหน้าคสช.อยู่ต่อจนมีรัฐบาลใหม่ ดังนั้นจะลาออกไม่ได้ หากนายกฯ ลาออก ครม.ก็ต้องออกทั้งหมด แล้วใครจะอยู่จัดงานและทำสิ่งที่ตนพูดมาทั้งหมด เข้าใจหรือไม่ ดังนั้นอย่ามาถามย้ำและไม่ต้องมาไล่