เปิดปูม 4 บิ๊ก “พลังประชารัฐ” ถึงวันสุดท้ายบนเก้าอี้รมว.

เปิดปูม 4 บิ๊ก “พลังประชารัฐ” ถึงวันสุดท้ายบนเก้าอี้รมว.


ในที่สุด ทั้งอุตตม สาวนายน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ สุวิทย์ เมษินทรีย์ และกอบศักดิ์ ภูตระกูล ก็ยื่นซองขาวให้กับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เพื่อขอหยุดหน้าที่ “รัฐมนตรี” ของทั้ง 4 ในรัฐบาลชุดนี้ โดยให้สิ้นสุดกันไปในวันที่ 29 มกราคม 2562 เพื่อทั้ง 4 จะก้าวเข้าสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัวภายใต้สีเสื้อ “พรรคพลังประชารัฐ”

โดย….ทีมข่าว ThaiQuote

ข้อครหา และข้อสงสัยที่เต็มไปหมดในสังคมได้รับความกระจ่างทันที หลังทั้ง 4 รัฐมนตรี ทั้ง รมว.อุตสาหกรรม ของอุตตม รมว.พาณิชย์ ของสนธิรัตน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของสุวิทย์ และรมต.ประจำสำนักนายกฯ ของกอบศักดิ์ ยื่นจดหมายลาออก เพราะก่อนหน้าที่ทั้ง 4 ถูกสังคมและคู่แข่งทางการเมืองกระหน่ำรอบทิศทางว่า “เอาเปรียบ” ทางการเมือง หลังทั้งหมดประกาศตัวตั้งพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ยังอยู่ในบทบาทของรัฐมนตรีบริหารชาติบ้านเมือง

กระนั้นก็ตาม “ซองขาว” ที่ถึงมือพล.อ.ประยุทธ์ ก็นับเป็นสปิริตทางการเมืองที่ต้องชื่นชมทั้ง 4 แม้หลายคนอาจจะมองว่า “ช้า” เกินไป แต่มองย้อนประวัติทั้ง 4 รัฐมนตรี ก็พบว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อยทั้งความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และคอนเน็กชั่น ที่จะเข้ามาทำงานบนถนนการเมือง

1.อุตตม สาวนายน ในบทบาทหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ – ก่อนหน้าที่จะมานั่งเก้าอี้ รมว.อุตสาหกรรม เคยเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพมาก่อน และหากย้อนก่อนหน้านั้นไปอีกก็พบว่ามีความถนัดในด้านการบริหารอยู่ไม่น้อย เพราะได้รับความไว้วางใจให้บริหารสถานบันการเงินของเอกชนมาหลายแห่ง ก่อนได้รับความไว้วางใจให้หันชีวิตสู่ถนนงานด้านการเมือง โดยเริ่มจากเป็นที่ปรึกษารมว.คลังในยุคของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และยังเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

 

ต่อมาในปี 2558 ชีวิตของอุตตม ก้าวถึงขั้น “รัฐมนตรี” เพราะได้รับการโปรโมทให้เป็นรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่ไม่ทันพ้นปีก็ได้ลาออก เพราะช่วงนั้นรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมาใหม่ และควบหน้าที่เดิมกับตำแหน่งรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศฯ แต่ปลายปี 2559 นั่นเอง ที่อุตตม ก็ผงาดได้เป็นรมว.อุตสาหกรรม

 

ชีวิตการศึกษาของอุตตม ส่วนใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยเขาจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยบราวน์ ก่อนควบต่อกับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจการเงินระหว่างประเทศ ที่ Kellogg School of Management, มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา และได้ดีกรีด็อกเตอร์ จากสาขาบริหารการเงิน จาก University of Massachusetts-Amherst สหรัฐอเมริกา

2.สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ กับหน้าที่เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ – อดีตหัวเรือพาณิชย์ที่คุมด้านค้าขายของประเทศและระหว่างประเทศมาพักใหญ่ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ วันนี้สนธิรัตน์ก็ถือได้ว่าเป็น “นักการเมือง” อย่างเต็มตัวแล้ว แต่เมื่อมองประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็ทำให้เห็นเส้นทางการทำงานของสนธิรัตน์เป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

 

สนธิรัตน์ เติบโตในการทำงานมาจากสายงานธุรกิจ และเขาถือเป็นนักธุรกิจที่มากประสบการณ์และโชกโชนอยู่ไม่น้อย ก่อนที่จะได้รับโอกาสเข้ามาเป็น “สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ” หลังรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ก่อกำเนิดได้ไม่นาน และเมื่อพ้นกับตำแหน่งนี้ ก็ยังได้รับโอกาสขยับมาเป็น “สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” ก่อนที่จะก้าวอีกขั้นกับงานการเมืองที่ใกล้กับรัฐบาลมากขึ้น โดยยกระดับมาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนที่ในยุคที่รมว.อุตสาหกรรมชื่อว่า อรรชกา สีบุญเรือง เมื่อปี 2558 สนธิรัตน์ ก็ได้ตำแหน่งที่ปรึกษารมว.คนนี้ด้วย ก่อนท้ายสุดจะข้ามห้วยไปทำงานที่กระทรวงพาณิชย์ ในตำแหน่งรมช.พาณิชย์ และขยับขึ้นเป็นรมว.พาณิชย์ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ในที่สุด

 

สนธิรัตน์ ที่เป็นลูกหม้อจากกาญจนบุรี เชี่ยวชาญในด้านการจัดการด้าน SME อย่างมาก เพราะอดีตเป็นถึง ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ที่ร่วมขับเคลื่อนและหาช่องทางให้ SME ในไทยได้เติบโต ส่วนการศึกษา ก็พกดีกรี ปริญญาตรี ด้านวัสดุศาสตร์ และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นองค์ความรู้ในการทำงานให้กับตัวเอง

3.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กับบทบาท “รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” – สุวิทย์ ชื่อกระโดดขึ้นมาในสังคมอย่างแทบทุกสัปดาห์ในช่วงปี 2561 กับประเด็นที่เจ้าตัวขับเคลื่อนอย่างหนักในการควบรวมอุดมศึกษา และกระทรวงวิทยาศาสตร์เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะเล็งเห็นว่าชาติในข้างหน้าอาจจะต้องขับเคลื่อนด้วยการศึกษาที่ต้องเป็นเลิศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก้าวสำคัญครั้งนี้ของสุวิทย์ ก็สะท้อนความสำเร็จออกมาหลังจากประเด็นนี้ถูกรัฐบาลผลักดันและคืบหน้าไปพอสมควร

 

สำหรับชีวิตการทำงานของ สุวิทย์ แล้ว มองย้อนกลับไปก็พบว่า เคยนั่งเก้าอี้ ผู้อำนวยการ SIGA หรือสถาบัน Sasin Institute for Global Affairs ที่ระดมมันสมองของคนไทยในการบริหารเพื่อเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น ส่วนงานการเมืองก็ตีคู่มากับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพราะได้โอกาสทำงานเป็นที่ปรึกษาของสมคิด ในขณะที่นั่งเก้าอี้รองนายกฯ ก่อนที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มตั้งไข่เดินหน้า สุวิทย์ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือสปช. ในปี 2557 ผลงานอันโดดเด่นทำให้ได้รับการโปรโมทเป็น รมช.พาณิชย์ในปี 2558 ก่อนที่ปีถัดมาจะขยับมาเป็น “รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ” และใช้เวลาอีกไม่ถึงปี ย้ายมานั่งเก้าอี้รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็นงานสุดท้ายในรัฐบาลของ “บิ๊กตู่”

สุวิทย์ พยายามผลักดันการใช้วิทยาศาสตณ์และเทคโนโลยีเพื่อให้ชีวิตของคนระดับ “ฐานราก” ของประเทศดียิ่งขึ้น ทั้งการหนุนให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรที่เน้นเพิ่มมูลค่าของผลผลิตผ่านกระบวนการเทคโนโลยี หรือการกระตุ้นการท่องเที่ยวในเชิงนิเวศน์ผ่านเทคโนโลยีที่ได้เข้าไปช่วยเหลือ นั่นสะท้อนให้เห็นภาพว่า สุวิทย์ ค่อนข้างจะโมเดิร์นพอสมควรกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและบริหารทิศทางของงานในประเทศให้สอดคล้องเป็นระนาบเดียวกัน

ส่วนประวัติการศึกษาของสุวิทย์ ก็พบว่ามีดีกรีมาไม่น้อย เริ่มจาก ปริญญาตรีด้านเภสัชศาสตร์ จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระดับปริญญาโทด้านการตลาด จากคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ประเทศสหรัฐอเมริกา

4.ท้ายสุดกับ กอบศักดิ์ ภูตระกูล กับตำแหน่งโฆษกพรรคพลังประชารัฐ – กอบศักดิ์ถือได้ว่า โชกโชน และ เชี่ยวชาญ อย่างมาก กับเรื่องนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ระบบการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน สังเกตได้จากชีวิตการทำงานที่เริ่มจากธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ก็ถูก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยืมตัว ไปนั่งบริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน คุมงานด้านวิจัยที่ข้องเกี่ยวกับตลาดทุนทุกด้าน แต่ท้ายสุดเพราะฝีมือดี ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องดึงตัวกลับมาคุมนโยบายการเงิน ก่อนที่เจ้าตัวจะตัดสินใจเบนเขมสู่เอกชน ด้วยตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กิจการธนาคารต่างประเทศ ของธนาคารกรุงเทพ

 

แต่กลิ่นหอมหวลบนถนนการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมันยั่วยวนใจ กอบศักดิ์ตัดสินใจชีวิตอีกครั้งเบนเข็มสู่ถนนการเมืองอย่างเต็มตัวในปี 2559 ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยในด้านต่างๆ ก่อนที่ปี 2560 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ไม่ใช่แค่งานด้านบริหารเศรษฐกิจที่โดดเด่น แต่กอบศักดิ์ยังเจ๋งพอตัวในงานด้านวิชาการ การันตีได้จาก ผลงานการศึกษาด้านต่างๆที่ทำออกมา จนได้รับรางวัล “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ที่มอบให้กับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น ในปี 2552 จากการคัดกรองของ สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ สถาบันทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ 7 สถาบัน และกองทุนป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย และครั้งนั้นเอง ประกาศเกียรติคุณของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กลั่นกรองผลงานวิชาการในการมอบรางวัล ระบุถึงผลงานของกอบศักดิ์ไว้ว่า

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ซึ่งมีความแม่นยำและความลุ่มลึกในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ มีความรัดกุมในวิธีวิทยา ตลอดจนมีความสามารถในการประยุกต์ใช้วิธีการทางเทคนิคในการทดสอบแนวคิดทางทฤษฎีต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมไม่ฟุ่มเฟื่อย และมีความโดดเด่นที่สามารถตีความข้อมูลเชิงประจักษ์ที่คุ้นเคยให้เกิดมุมมองใหม่ที่น่าสนใจและเข้าใจได้ง่าย งานวิชาการของ ดร. กอบศักดิ์ หลายชิ้นสามารถก่อให้เกิดการถกเถียงและเปิดประเด็นให้เกิดการศึกษาวิจัยสื่บเนื่องอย่างกว้างขวาง

ผลงานวิชาการคุณภาพสูงจำนวนมากของ กอบศักดิ์ ได้แสดงให้เห็นถึงฉันทะทางวิชาการและความสนใจในการศึกษาวิจัยในเรื่องต่างๆ ที่หลากหลาย ครอบคลุมปริมณฑลทางวิชาการอย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องนโยบายการเงิน การออม สินเชื่อ ทุนมนุษย์ การประกันสังคม และการค้าระหว่างประเทศ โดยทุกเรื่องล้วนมีนัยทางนโยบายต่อการพัฒนาประเทศไทย”

ประวัติของ 4 บิ๊กเนมในสังกัด “พลังประชารัฐ” แม้จะถูกมองและค่อนขอดว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่หวังจะต่อยอดอำนาจทางการเมืองในการบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้ แต่ต้องยอมรับจริงๆ ว่าทั้งผลงาน ดีกรี ประสบการณ์ ของทั้ง 4 คน จะเป็นกลไกสำคัญในการทำงานเพื่อชาติได้ หากพวกเขาทั้งหมดได้รับโอกาสจากประชาชน