ในที่สุดพระราชกฤษฏีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไป พุทธศักราช 2562 ก็”แจ้งเกิด”เรียบร้อย ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนที่ 8 ก.หน้าที่ 1 ลงวันที่ 23 มกราคม 2562
การแจ้งเกิดพระราชกฤษฏีกาที่ว่า คือสัญญาณที่เป็นรูปธรรมชัดเจนของการ”กดปุ่ม”เดินหน้าเต็มตัว สู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไป หลังจากว่างเว้นมายาวนานเกือบ 8 ปี นับจากปี 2554 เป็นต้นมา
พวกมนุษย์สายพันธุ์มโนเนมทั้งหลาย ที่ละเมอเพ้อเจ้อไปเรื่อยเปื่อย เห็นจะต้อง”ชัทอัพ”…หุบปากยุติการปั่นข่าวมั่วเรื่องเลือกตั้งลงซะที
แล้วไงต่อ….???
เมื่อพระราชกฤษฏีกาให้มีการเลือกตั้งถูกประกาศอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา สะกิดให้ทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร(พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง) ต้องขยับขับเคลื่อนขานรับกันอย่างเป็นจังหวะ โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นเจ้าภาพหลัก ในฐานะ”ผู้รักษาการตามกฎหมาย”
7 เสือกกต.แสดงปฏิกิริยาตอบสนองพระราชกฤษฏีกาให้มีการเลือกตั้งฯแบบฉับพลันทันอกทันใจน่าชื่นชม ด้วยการนัดหมายประชุม”เคาะ”กำหนดตารางกิจกรรมการเลือกตั้งออกมาในวันเดียวกันกับวันที่พระราชกฤษฏีกาให้มีการเลือกตั้งฯถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา
อาทิตย์ 24 มีนาคม..จุดเปลี่ยนประเทศไทย :
บทสรุปการประชุม กกต.เห็นชอบให้วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไปทั้งประเทศ ส่วนการเลือกตั้งนอกประเทศ กำหนดไว้วันที่ 4-16 มีนาคม 2562 และการเลือกตั้งนอกเขต ในประเทศ กำหนดไว้วันที่ 17 มีนาคม 2562
สำหรับกำหนดเปิดรับสมัครผู้ลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบแบ่งเขตระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562
ใครจะเป็น”ว่าที่นายกรัฐมนตรี” ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองใด…”ลุงตู่”จะมีชื่อเป็น”ว่าที่นายกรัฐมนตรี”ในบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคอื่นใด จะได้รู้โดยทั่วกันไม่เกินวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน
กติกาใหม่..เลือกตั้ง 2562
พลันที่พระราชกฤษฏีกาให้มีการเลือกตั้งฯมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2562 เป็นต้นมา บรรดารายการใช้จ่ายเพื่อการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งจะถูกนับตั้งแต่สลึงแรกที่ใช้ และต้องบันทึกรายงาน กกต. ตามบทบัญญัติที่ตราไว้ในพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ภายใต้วงเงินที่ต้องไม่เกินจากที่ กกต.กำหนด
ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเดือน มีนาคมนี้ กกต.กำหนดกรอบวงเงินหาเสียงไว้ไม่เกิน 1,500,000 บาท/คน สำหรับผู้สมัคร สส.เขต และไม่เกิน 35 ล้านบาท/พรรค
หากผู้สมัครคนใด หรือ พรรคการเมืองใด ใช้จ่ายเกินกว่าวงเงินที่ กกต.กำหนด ถือว่ากระทำความผิด และเตรียมตัวเตรียมใจรับความซวยที่จะไปเยือนโดยไวไว้ให้พร้อม
คาด 8 พันคนลงสนาม-เงินสะพัดกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท
สมรภูมิเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ มีการประมาณการล่วงหน้าว่าจะมีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงสนามเลือกตั้งไม่เกิน 40 พรรค จากจำนวน 104 พรรคที่จดทะเบียนไว้กับ กกต. ด้วยข้อจำกัดด้าน”ทุนทรัพย์”ในการลุยศึกเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งไม่เกิน 40 พรรค แต่จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้ง มีแนวโน้มที่จะทำสถิติสูงสุดเหนือกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาในรอบ 20 ปี
ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีค่าเฉลี่ยจำนวนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่ที่ประมาณ 3,000 คน แต่การเลือกตั้งเดือนมีนาคมนี้ ถูกคาดหมายจำนวนผู้ลงสมัครรับการเลือกตั้งไว้ไม่น้อยกว่า 8,000 คน
บวกลบคูณหารค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งตามกรอบกฎหมายที่คนละ 1,500,000 บาท เม็ดเงินจากการหาเสียงที่จะสะพัดจากผู้สมัคร 8,000 คน ก็ปาเข้าไป 12,000 ล้านบาทแล้ว เมื่อสมทบกับเม็ดเงินหาเสียงของพรรคที่ถูกกำหนดไว้ 35 ล้านบาท/พรรค อีกประมาณ 40 พรรค รวมอีก 1,400 ล้านบาท เบ็ดเสร็จเม็ดเงินจากการหาเสียงเลือกตั้งคราวนี้น่าจะกระจัดกระจายไม่น้อยกว่า 13,400 ล้านบาท……
โดย…รัมย์ฤตา