มองทุกโอกาสของ “บิ๊กตู่” บนเส้นทางสู่”นายกฯ”คนต่อไป

มองทุกโอกาสของ “บิ๊กตู่” บนเส้นทางสู่”นายกฯ”คนต่อไป


ส่องและวิเคราะห์ทุกเงื่อนไขของ “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย เพราะดูเหมือนเจ้าตัวเองก็ปราถนาเก้าอี้ตัวนี้ด้วยเช่นกัน แต่จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่บนกติกาของการเมืองในยุคนี้ ThaiQuote พาไปหาคำตอบ

โดย….ประภาคาร

การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 62 ทำให้ พรรคการเมืองต่างทุ่มเทกันเต็มที่หวังความเก้าอี้ ส.ส. ให้ได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 เพื่อจะได้โอกาสในการเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง แน่นอนว่า ตามเงื่อนไขของ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ มีการกำหนดให้ บรรดาพรรคการเมืองต้อง “เสนอชื่อ” ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่เกิน 3 รายชื่อ โดยจะต้องไม่ซ้ำกัน และกำหนดคือต้องยื่นได้ไม่เกินวันสุดท้ายของวันรับสมัคร ส.ส. ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งแรกของ รธน.ฉบับนี้ ก็คือ วันที่ 8 ก.พ.2562 ตามที่ กกต.ได้ประกาศวันรับสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 4-8 ก.พ. 2562 นั้นเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนทั้งประเทศจับตามากทีสุดก็คือ “บิ๊กตู่” พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จะกำหนดบทบาทของตัวเองอย่างไร จะยินยอมรับเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของ “พรรคการเมือง” โดยเฉพาะ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) หรือไม่ เพราะจนถึงวันนี้หลังการประกาศวันเลือกตั้งออกมาแล้ว ท่าทีของ “บิ๊กตู่” ก็ยังไม่ชัดเจน เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามหาความชัดเจน ในขณะพรรคการเมืองฝ่ายขั้วตรงข้ามเอง ก็พยายามเรียกร้องหาความชัดเจนจาก บิ๊กตู่ ว่า จะตอบรับหรือไม่อย่างไร ..

ทั้งนี้ทั้งนั้น “บิ๊กตู่” ถือเป็นบุคคล ที่มีการสำรวจความนิยมจากหลากหลายสำนักโพลแล้วพบว่า คนไทยต้องการให้กลับมาเป็น “นายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งมากที่สุด” มีคะแนนเหนือคนอื่นๆ ทิ้งห่างมาตามลำดับของการสำรวจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของบรรดาสำนักสำรวจคะแนนนิยมทั้งหลาย และแน่นอนที่สุด การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ อย่าง พรรคพลังประชารัฐนั้น บรรดาเซียนการเมืองก็มองทะลุไปแล้วว่า เป็นพรรคการเมืองที่จะเข้ามาสานต่อการดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องให้กับรัฐบาลปัจจุบัน และมีความคิดชัดเจนว่าต้องการผลักดันให้ “บิ๊กตู่” เข้ามานั่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกด้วย

แม้ ล่าสุด หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ “อุตตม สาวนายน” จะออกมาเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ยังไม่มีการทาบทามใครเพื่อมาอยู่ในบัญชีเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของพรรค โดยเมื่อเปิดชื่อออกมารับรองว่าได้ เฮกันทั้งประเทศแน่นอน

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาจะได้เฮหรือไม่ อีกไม่นานได้รู้แน่ แต่ถามว่า มีโอกาสหรือไม่ ที่พลเอกประยุทธ์ จะไม่รับการทาบทามเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค …?

และหาก ไม่รับการเสนอชื่อ จะมีโอกาสหรือไม่ที่ พลเอก ประยุทธ์จะกลับมานั่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีกครั้ง..?

เรื่องนี้เราต้องย้อนกลับไปดู รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ากำหนด “การได้มาของนายกรัฐมนตรี” เป็นอย่างไรบ้าง โดยสรุปของการได้มาของนายกรัฐมนตรีตาม รธน. มีได้ 2 อย่าง คือ

1 บุคคลที่ถูกเสนอชื่อ ตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่เสนอได้ ไม่เกิน 3 คน

2 บุคคลที่ถูกเสนอชื่อภายหลังจากกระบวนการตาม ขั้นตอนในรัฐสภาไม่สามารถตกลงกันเพื่อเสนอชื่อบุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้

ทั้งนี้ ทั้ง 2 เงื่อนไข ไม่มีข้อกำหนดใดว่า ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส. หรือต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆทั้งสิ้น และมีเงื่อนไขและกรอบของคุณสมบัติ ดังนี้

– สำหรับคนที่จะอยู่ในบัญชีชื่อนายกฯ ของพรรคการเมือง มีดังนี้

1.ต้องมีหนังสือยินยอมจากบุคคลนั้น

2.ให้บุคคลนั้นอยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคได้เพียงพรรคเดียว

3.ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีข้อต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

– คุณสมบัติหลักๆ คือ

1.มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

2.อายุไม่ต่่ำกว่าสามสิบห้าปี

3.สําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

4.มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

5.ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

6.ไม่มีลักษณะต้องห้ามเหมือนการเป็นผู้สมัคร ส.ส.

7.ไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

8.ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตําแหน่งจากเหตุเหล่านี้ มายังไม่ถึง 2 ปี นับถึงวันแต่งตั้ง คือ ปัญหาเรื่องการดำรงตำแหน่งในหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ปัญหาเรื่องการรับ แทรกแซง หรือก้าวก่ายการรับสัมปทาน รับเงินเดือนหรือประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ การแทรกแซงสิทธิเสรีภาพสื่อ และปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการถือครองหุ้น

จากเงื่อนไขคุณสมบัติตามกฎหมาย จะเห็นได้ว่า “ไม่มีขีดจำกัด” หรือ “ข้อบังคับใด” ที่กำหนดให้ “บิ๊กตู่” หรือ ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเข้าสังกัดพรรคการเมือง ต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ต้องเป็น ส.ส.เลือกตั้งจากเขต หรือ ส.ส. จากบัญชีรายชื่อใดๆ ทั้งสิ้น หากจะแสดงความชัดเจนว่าจะถูกเสนอชื่อเป็นนายกคนต่อไปของพรรคการเมืองใด ก็เพียงแต่ยินยอมรับการทาบทามของพรรคการเมืองนั้นให้เสนอชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของผู้ที่เสนอชื่อเป็นนายกเท่านั้น ซึ่งการรับไม่รับเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะมีความแตกต่างในเชิงขั้นตอนวิธีการ และขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ของการเลือกตั้งว่าจะออกมาอย่างไร

หากประเมินสถานการณ์การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นว่า พรรคที่สนับสนุนตัวเอง จะพรรคเดียวหรือพรรคร่วมก็ตาม ได้เสียงสนับสนุนมากพอเป็นเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลได้แน่นอน ซึ่งจะทำให้การเสนอชื่อ นายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภาไม่เป็นปัญหา ก็ประกาศตัวรับเป็นผู้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไปได้เลย ซึ่งการประกาศตัวจะส่ง “ผลดี” “ผลเสีย” ต่อการหาเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคที่สนับสนุนหรือไม่อย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ ต้องมีการประเมินเช่นกัน

ส่วนอีกทางหนึ่ง หากประเมินว่า ถึงอย่างไรผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มีทางที่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง ได้เสียงข้างมากแน่นอน โดยเฉพาะพรรคที่อยู่ขั้วตรงข้ามต่างๆ ถึงอย่างไรก็ไม่มีทางได้เสียงรวมกันแล้วมีเสียงข้างมากเด็ดขาด (ซึ่งต้องเกิน 375 เสียงด้วย) ก็ไม่จำเป็นต้องลงมานั่งในบัญชีรายชื่อของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ เพราะยังมีช่องทางที่จะเข้ามาเป็นผู้ถูกเสนอเป็นนายกฯ ตามเงื่อนไขกฎหมายที่ กำหนดไว้ใน มาตรา 272 ดังนี้

“มาตรา 272 ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรดําเนินการตามมาตรา 159 ต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”

แต่ในเงื่อนไขหลังนี้ มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงสำหรับพลเอกประยุทธ์ เพราะหากจะได้รับการสนับสนุน ต้องเข้าเงื่อนไขหลายอย่างดังนี้

ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา
2.รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว.ทั้งหมด ลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนจาก 750 คน ให้มีนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้

3) ส.ส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 50 คนเสนอชื่อบุคคลใดก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 คน

จะเห็นได้ว่า ในเงื่อนไขหลังนี้ ถึงอย่างไรก็ต้องมีเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 251 เสียง เพราะจะเป็นการรับประกันได้ว่าเมื่อรวมกับ ส.ว. จำนวน 250 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีการประเมินว่าเป็นส.ว.ที่สนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว จะสามารถลงมติเพื่อให้เสนอชื่อนายก นอกบัญชีรายชื่อได้ และ มี 251 เสียงเป็นฐาน เพื่อยกมือให้เป็นนายกรัฐมนตรี โอกาสนี้จึงจะเกิดขึ้นอย่างเป็นจริงสำหรับพลเอกประยุทธ์

เงื่อนไขสำคัญ คือ ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ทั้งจากการเลือกตั้งระบบเขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อ รวมถึงจะอยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ หรือไม่อยู่ก็ได้ ทำให้ “บิ๊กตู่” ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนตัดสินใจในเร็ววัน หากจะเข้าสู่ระบบบัญชีรายชื่อ ยังมีเวลาได้จนถึง 8 ก.พ. 62

แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ และการจัดลำดับอำนาจการตัดสินใจ เมื่อมานั่งเป็นนายกรัฐมนตรีในภายหลังมากกว่า เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อสภาพของรัฐบาลเฉพาะกิจ ทีมีอำนาจการบริหารแบบพิเศษ มีมาตรา 44 เป็นดาบอาญาสิทธิหมดอำนาจลง อำนาจการตัดสินใจ ของนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งต้องใช้อำนาจตามกรอบกฎหมาย ตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ที่จำเป็นต้องมีฐานการสนับสนุนของสมาชิก ส.ส.เป็นส่วนหนุนด้วยนั้นต่างหากที่สำคัญ เพราะเมื่อถึงวันนั้นแล้ว “บิ๊กตู่” ยังมีอำนาจเต็มในการบัญชาการ โดยที่ไม่มีลูกพรรคแตกแถวได้หรือไม่ เป็นสิ่งสำคัญต่อการตัดสินใจมากที่สุด

วันนี้ “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จึงยังไม่จำเป็นต้องแสดงความชัดเจนใดๆ ยังไล่ให้กลับดูข้อกฎหมายต่างๆได้ แต่ไม่นานวันจะเห็นทิศทางว่า “บิ๊กตู่” จะตัดสินใจอย่างไร ประเมินสถานการณ์แบบใด แต่ที่แน่ๆ โอกาสที่ บิ๊กตู่จะหวนกลับมานั่ง นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง มีแน่ๆ ตามเงื่อนไขของกฎหมาย