กางระเบียบ กกต. หาเสียงแบบไหน “ทำได้” และ “ทำไม่ได้”

กางระเบียบ กกต. หาเสียงแบบไหน “ทำได้” และ “ทำไม่ได้”


กกต.ประกาศระเบียบข้อกำหนดส่งถึงบรรดาพรรค ผู้สมัคร แจงชัดหาเสียงทำสิ่งใดได้บ้าง และข้อห้ามคืออะไร

หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศมติเสียงข้างมากกำหนดให้วันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นวันที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ก็ออกมาให้ข้อมูลว่า นักการเมืองแต่ละพรรค รวมถึงพรรคการเมืองเองก็ตาม จะเริ่มหาเสียงได้ตั้งแต่เวลา 00.01 ของวันที่ 24 มกราคม เป็นต้นไป

ล่าสุด กกต.ได้ชี้แจงระเบียบข้อบังคับ เพื่อให้ความชัดเจนกับบรรดาพรรคการเมือง โดยออกประกาศระเบียบคณะกรรมการกาเราเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 23 มกราคม 2562 โดยประเด็นสำคัญคือ การระบุว่า ส่ิงใดที่พรรคการเมือง นักการเมือง “ทำได้” และ “ทำไม่ได้” บ้าง ดังนี้

สิ่งที่ทำได้

1.แจกเอกสารหรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งในเขตชุมชน สถานที่ต่าง ๆ หรืองานพิธีการต่าง ๆ โดยเอกสารหรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งสามารถระบุชื่อ รูปถ่ายหมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมือง พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้อย่างชัดเจนที่ด้านหน้าของเอกสารหรือวีดิทัศน์ด้วย

2.ใช้พาหนะต่าง ๆ ในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือจัดสถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้ ทั้งนี้ ให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองแจ้งรายละเอียดให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบภายใน 10 วันหลังจากปิดรับสมัครรับเลือกตั้งตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบ

3.ใช้เครื่องขยายเสียงช่วยในการเลือกตั้ง

4.ปิดประกาศการโฆษณาหรือติดแผ่นป้ายการโฆษณาที่ยานพาหนะในการหาเสียงเลือกตั้ง สถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ซึ่งกรณีนี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเฉพาะเรื่องขนาด จำนวน สถานที่ และบุคคลที่ปรากฏในประกาศหรือแผ่นป้ายประกาศการโฆษณาหรือแผ่นป้ายการโฆษณาตามวรรคหนึ่ง สามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือ

นอกจากนี้ ในส่วน คติพจน์ คำขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมือง พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้อย่างชัดเจนที่ด้านหน้าของประกาศ การโฆษณาหรือแผ่นป้ายการโฆษณาด้วย การปิดประกาศการโฆษณาหรือติดแผ่นป้ายการโฆษณาที่ยานพาหนะที่ใช้ในการรับจ้างทั่วไป สถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ให้ถือเป็นการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งและนับรวมค่าใช้จ่าย ดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นด้วย

5.หาเสียงเลือกตั้งผ่านจดหมาย สื่อสิ่งพิมพ์ ถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

6.หาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามหมวด 2 การหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ (ค่าใช้จ่ายเกิน 10,000 บาท นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร)

7.จัดทำเอกสารที่มีการกากบาทในช่องลงคะแนนเลือกตั้งให้กับตนเองเพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองได้ แต่การจัดทำเอกสารดังกล่าวต้องไม่มีขนาดลักษณะหรือสีที่คล้ายกับบัตรเลือกตั้ง

8.จัดให้มีผู้ช่วยหาเสียง เพื่อช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้งตามหมวด 3 ผู้ช่วยหาเสียง

9.นอกจากการจัดทำเอกสาร วีดีทัศน์ ประกาศโฆษณาเพื่อหาเสียงเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครยังสามารถนำภาพของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมือง ลงโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้

สิ่งที่ทำไม่ได้

1.ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง

2.ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งในลักษณะ ดังต่อไปนี้

ผู้ประกอบอาชีพหรือเป็นเจ้าของกิจการเกี่ยวกับรายการทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์สื่อมวลชน สื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร สื่อมวลชน เป็นต้น ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองกรณีตาม (1) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้สมัครที่ใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตน หาเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองโดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดง

แจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ

หาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม

ช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใดตามประเพณีต่างๆ