“กฤษณา ไกรสินธุ์” เภสัชกรยิปซี ที่มหาเศรษฐี“บิลเกตส์” ยกย่อง

“กฤษณา ไกรสินธุ์” เภสัชกรยิปซี ที่มหาเศรษฐี“บิลเกตส์” ยกย่อง

ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ คือผู้อุทิศตนใช้ความรู้ในการผลิตยาต่อต้านไวรัส HIV ในผู้ป่วยโรคเอดส์ของประเทศไทย ก่อนเร่รอนเดินทางด้วยความมุ่งมั่นเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตยาต่อต้านเอดส์ในทวีปแอฟริกา ด้วยความหวังที่ต้องการจะให้ผู้ป่วยในประเทศโลกที่สามนั้นสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยาที่มีราคาถูก

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับ “วันเอดส์โลก”  บิล เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟท์ ได้โพสต์เฟสบุ๊กยกย่อง ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ โดยระบุว่า

“ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรจากประเทศไทย ได้อุทิศชีวิตของเธอในการผลิตยาราคาไม่แพงและสามารถเข้าถึงได้ ความพยายามของเธอช่วยชีวิตผู้คนนับไม่ถ้วน”

“Dr. Krisana Kraisintu, a pharmacist from Thailand, has dedicated her life to making medicines more affordable and accessible. Her efforts have saved and improved countless lives”

สำหรับ ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 เป็นคน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีบิดาเป็นนายแพทย์ และมีมารดาเป็นพยาบาล

ดร.กฤษณา จบการศึกษาปริญญาตรี จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสตรัชคไลด์ (Strahclyde) และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ (Bath) ประเทศอังกฤษ

หลังจบปริญญาเอกจากอังกฤษ ดร.กฤษณา ได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมี ในปี พ.ศ. 2524  ขณะเดียวกันก็มีความคิดว่าหากทำงานด้านวิจัยยา จะสามารถช่วยผู้คนได้มากกว่านี้ จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์ แล้วสมัครเข้ามาทำงานที่องค์การเภสัชกรรม

ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2535 ดร.กฤษณาได้ศึกษาวิจัยยาต้านไวรัสเอดส์ หลังจากความพยายาม 3 ปี  ในปี พ.ศ. 2538 ก็ประสบความสำเร็จในผลิตยาสามัญที่เป็นยาต้านไวรัสเอดส์ได้เป็นครั้งแรกของโลก โดยยาตัวนั้นคือ “ZIDOVUDINE” (AZT) หลังจากนั้นได้มีการวิจัยต่อยอดยาอีกหลายชนิด แต่ที่ประสบความสำเร็จและดังมากที่สุดคือ “GPO-VIR” ซึ่งเป็นการรวมตัวยารักษาโรคเอดส์ 3 ชนิดในเม็ดเดียวเป็นครั้งแรกของโลก

แต่ด้วยเหตุที่ยาต้านไวรัสเอดส์นั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ปริมาณมากในผู้ป่วย มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง ดร.กฤษณาจึงริเริ่มผลิตยาในราคาที่ลดลงจากราคาที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ช่วยให้ผู้ป่วยโรคเอดส์มีความสามารถในการเข้าถึงยาได้ง่าย ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทผลิตยาหลายแห่ง ดำเนินการฟ้องร้อง ซึ่งเรื่องดังกล่าว ดร.กฤษณา ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรสิทธิมนุษย์ในต่างประเทศ

กระทั่งในปี พ.ศ.2545 ดร.กฤษณา ได้ลงมือกระทำสิ่งที่ใครอาจไม่เคยคิดจะทำมาก่อนด้วยการลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม เพื่อเดินทางไปช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นการเดินทางไปเพียงลำพัง ด้วยความมุ่งมั่นที่ว่า “ถ้าเขาอยากกินปลา เราก็ควรสอนเขาตกปลาเอง ไม่ใช่ว่าเอาปลาไปให้เขากิน” โดยใช้เวลา 3 ปีตั้งโรงงานเภสัชกรรมแห่งแรกในประเทศคองโก ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต และสามารถผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ ชื่อ AFRIVIR ได้สำเร็จ

ขณะเดียวกัน ดร.กฤษณา ยังได้เดินทางไปยังประเทศแทนซาเนีย เพื่อช่วยเหลือในด้านเภสัชกรรม จนสามารถวิจัยและผลิตยารักษาโรคมาลาเรียชื่อ “Thai-Tanzunate” ได้สำเร็จ ซึ่งต่อมายานี้ได้กลายเป็นยาที่ขายดีที่สุดในประเทศ

ดร.กฤษณา ยังคงเดินทางต่อไปในทวีปแอฟริกา ได้แก่ ประเทศอเอริเรีย เบนิน ไลบีเรีย และมาลี  รวมทั้งประเทศอื่นๆ ซึ่งชีวิตในแอฟริกานั้นลำบาก โลดโผน และไม่มีความแน่นอน ผลตอบแทนที่เธอได้รับนั้น คือการได้ช่วยเหลือผู้คนจำนวนมหาศาล

ขณะเดียวกันประเทศและหน่วยงานต่างๆต่างมอบรางวัลเพื่อเป็นเกียรติให้กับเธอ ได้แก่ รางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก (Global Scientist Award) ประจำปี พ.ศ. 2547 จาก Letten Foundation ประเทศนอร์เวย์

รางวัลบุคคลแห่งปีของเอเชีย จากนิตยสารรีดเดอร์ ไดเจส ประจำปี พ.ศ. 2551

รางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะประจำปี พ.ศ. 2552

รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ จากสำนักนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกันเรื่องราวของเธอยังเป็นที่รู้จักในยุโรปและอเมริกา และถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง A Right to Live-AIDS medication for Millions (2006) ซึ่งได้รับรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์กว่า 3 รางวัล และถูกนำไปสร้างเป็นละครบรอดเวย์สหรัฐอเมริกาชื่อ Cocktail