“ปณิธานจากสองมือเกษตรกร” แรงขับเคลื่อน ผอ.ชลประทานบุรีรัมย์

“ปณิธานจากสองมือเกษตรกร” แรงขับเคลื่อน ผอ.ชลประทานบุรีรัมย์

ปณิธานจากสองมือเกษตรกรแรงขับเคลื่อน กิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์

“สองมือที่ยกขึ้นไหว้ผมของเกษตรกรคนหนึ่งในวันนั้นเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผมเป็น ‘กิติกุล’ ในวันนี้” คำกล่าวของนายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ ข้าราชการคนเก่ง ที่ครั้งอดีตเคยขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน แต่กลับมีจุดพลิกผันที่เกิดจากสองมือของเกษตรกร จนเกิดเป็นเรื่องราวการตั้งปณิธานกับตนเองว่าจะต้องช่วยเหลือให้กับทุกความเดือดร้อนที่ร้องขอมา เพราะรอยยิ้มของเกษตรกรหนึ่งคนนั้นมีผลทางใจมหาศาล

ข้าราชการ ไร้แรงขับ
ย้อนไปเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ครั้งสมัยวัยใส กิติกุล ยอมรับว่าเขาเป็นนักเรียนในกลุ่มเด็กเรียนดี แต่กระนั้นสำหรับการสอบเข้าวิทยาลัยการชลประทานก็ไม่ได้มาจากความตั้งใจเสียเท่าใดนัก ซึ่งน่าจะเรียกว่า “เพื่อนบังคับ” ให้สอบเข้าด้วยกันเสียมากกว่า
ภายหลังจากศึกษาจบออกมาจากรั้ววิทยาลัยการชลประทาน กิติกุล เล่าว่าเขาเป็นข้าราชการธรรมดาคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ของตนอย่างไม่เคยขาดตกบกพร่องแต่กลับหาแรงขับเคลื่อนในการทำงานแก่ตนเองไม่ได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง….จุดกำเนิดประกายความคิดการเดินทางในสายงานข้าราชการของกิติกุลก็สว่างขึ้น

แรงบันดาลใจ จากสองมือ

            “ช่วงที่ผมมีตำแหน่งเป็นนายช่างชลประทาน 5 หัวหน้าฝ่ายส่งนํ้าและบำรุงรักษาที่ 4 โครงการส่งนํ้าและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ จ.นครราชสีมาในวันหนึ่ง ก็มีคุณลุงเกษตรกรในพื้นที่เดินทางเข้ามาหาผม โดยร้องขอให้ขุดลอกแหล่งนํ้าที่มีสภาพตื้นเขินให้กลับมาเก็บกักนํ้าได้ดีดังเดิม เพราะเป็นแหล่งนํ้าสำคัญในการใช้เพาะปลูกหาเลี้ยงชีพของครอบครัว และในพื้นที่การเกษตรโดยรอบๆ ซึ่งหลังจากนั้นผมและทีมงานก็ได้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาจนสำเร็จกิติกุล พยายามเล่าประติดประต่อเหตุการณ์

กิติกุล เล่าต่อว่า หลายวันต่อมาคุณลุงเกษตรกร ได้เดินทางเข้ามาหากิติกุลที่โครงการฯ อีกครั้ง แต่ใบหน้าของคุณลุงเกษตรกรในวันนั้นช่างต่างกับวันแรกที่ได้พบกัน เพราะครั้งนี้มีทั้งรอยยิ้มและความสุข ทั้งยังมีผลไม้ติดมือมาเป็นของฝากแต่เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้นายช่างคนเก่งจำได้ดีมิรู้ลืม คือ คุณลุงเกษตรกร ได้วางผลไม้ลงกับพื้น พร้อมกับยกมือก้มลงกราบเขาซึ่งมีอาวุโสน้อยกว่า พร้อมกับพูดว่า“ผมขอบคุณมากครับ ฝันของผมเป็นจริงแล้ว แต่ผมไม่มีอะไรจะตอบแทนนอกจากผลผลิตเหล่านี้”

    

        “ในใจของผม เต็มไปด้วยความอิ่มเอม” กิติกุล แสดงนํ้าเสียงที่บ่งบอกถึงสุขของตนระหว่างสัมภาษณ์

ความพิเศษของเหตุการณ์ในครั้งนั้น ได้สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่กิติกุลทำให้

แก่คุณลุงเกษตรกรนั้น แม้จะเป็นเพียงภารกิจที่ตนต้องทำในฐานะข้าราชการกรมชลประทานอยู่แล้ว แต่สำหรับเกษตรกรแล้ว “นํ้า” เปรียบดังสายธารที่หล่อเลี้ยงชีวิตของตนเองและครอบครัว แต่เหนือสิ่งอื่นใดความรู้สึกที่กิติกุลได้รับนั้นมีผลต่อทางจิตใจเขามาก กลายเป็นแรงผลักดันมากมายที่ทำให้เขาตั้งปณิธานจะช่วยเหลือทุกการร้องขอเพื่อประชาชนทุกคนที่เดือดร้อน

บุรีรัมย์ตำนํ้ากิน

นับจากวันนั้นด้วยการทำงานที่ทุ่มเทไปกับโครงการใหญ่น้อยมากมาย ได้ส่งผลสัมฤทธิ์ให้หน้าที่การงานของกิติกุลก้าวหน้าขึ้น ปัจจุบัน กิติกุล มีตำแหน่ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ ดูแลรับผิดชอบในการบริหารจัดการนํ้าบริเวณเขตพื้นที่ของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 6,451,178.125 ไร่

          “จังหวัดบุรีรัมย์ในอดีตขึ้นชื่อว่า ‘บุรีรัมย์ตำนํ้ากิน’ (เป็นคำพังเพยที่แสดงถึงสภาวะการขาดแคลนนํ้า) นั่นคือ ประสบปัญหาการขาดแคลนนํ้ามาโดยตลอด รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรที่จะขจัดปัญหาเหล่านั้นให้หมดไปได้โดยเร็ว จึงเกิดเป็นโครงการต่างๆ ขึ้นมากมายภายใต้การดูแลของผมและทีมงาน”

หนึ่งในโครงการสำคัญที่กิติกุลเอ่ยถึงและดำเนินการอยู่ คือ โครงการผันนํ้าเพื่อนำนํ้าส่วนที่สร้างความเสียหายมาชดเชยในส่วนพื้นที่ที่ขาดนํ้า โดยใช้วิธีการผันนํ้าจากลำนํ้าลำปะเทียเข้าสู่อ่างเก็บนํ้าห้วยตลาด โดยแรงโน้มถ่วงของโลกและสร้างคลองเชื่อมอ่างเก็บนํ้าห้วยตลาดและอ่างเก็บนํ้าห้วยจระเข้มากให้เป็นลักษณะอ่างพวง พร้อมพัฒนาแหล่งนํ้าเชิงพื้นที่และลุ่มนํ้า โดยได้รับการสนับสนุนที่ดีจากส่วนราชการหลายภาคส่วน จะช่วยป้องกันความเสียหายหลักของจังหวัดบุรีรัมย์ในอนาคตอันใกล้นี้ นั่นก็คือปัญหาการขาดแคลนนํ้าในพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองบุรีรัมย์นั่นเอง

กำลังใจจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ส่วนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในจังหวัดบุรีรัมย์ กิติกุล ใช้หลักการพัฒนาตามศักยภาพพื้นที่ที่พัฒนาได้ เช่น โครงการเพิ่มปริมาณนํ้าต้นทุนของอ่างเก็บนํ้าทุ่งใหญ่พร้อมก่อสร้างคลองรับนํ้าและระบบกระจายนํ้าไปยังที่ดินของเกษตรกรซึ่งแล้วเสร็จในปี 2559

            “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจและติดตามความก้าวหน้าของโครงการ ในการนี้ได้ทรงให้กำลังใจในการปฏิบัติงาน รู้สึกภูมิใจในการทำงานของกรมชลประทานสร้างแรงผลักดันในการทำงานให้กับผมและทีมงานในการทำงานเพื่อประชาชนอย่างสูงสุดต่อไป” กิติกุล เล่าถึงความรู้สึกภูมิใจของตน

 แรงผลักดันตามรอยพ่อหลวงรัชกาลที่ 9

ท้ายนี้อีกหนึ่งแรงบันดาลใจสูงสุดในการทำงานของกิติกุล นั่นคือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาสามารถปฏิบัติภารกิจโครงการน้อยใหญ่สำเร็จลุล่วงมาโดยตลอดโดยได้น้อมนำศาสตร์พระราชาของพระองค์ท่านมาประยุกต์ใช้กับงานทุกโครงการเกือบทั้งสิ้น

“พระองค์ฯ ทรงเป็นครูของชาวชลประทาน พวกเราชาวชลประทานจะขอน้อมนำแนวพระราชดำริของ

พระองค์ท่านมาพัฒนาและขยายผลแก้ปัญหาไปสู่ความยั่งยืนเพื่อประชาชนของพระองค์ฯ เราเหนื่อยยังไม่ถึงครึ่งของพระองค์ฯ ท่านทรงงานมาเกือบทั้งชีวิตเพื่อประชาชน เราจะท้อแท้ไม่ได้ เราจะต้องทำงานตามรอยพระบาทพระองค์ฯ ท่าน ตลอดไป