อีกครั้งที่ประเทศไทยต้องสูญเสียปูชนียบุคคลด้านวิทยาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญาฯ อย่าง ศ.ดร.ระวี ภาวิไล อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราชบัณฑิต นักเขียน นักแปล ซึ่งถึงแก่กรรมอย่างสงบในวัย 92 ปี เมื่อเวลา 01.15 น. ของวันที่ 17 มีนาคม 2560 โดยศ.ดร.ระวีได้ฝากผลงาน ตลอดจนสร้างคุณูปการในสังคมไว้อย่างมากมาย
ศ.ดร.ระวี ภาวิไลได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (ของประเทศไทย) พ.ศ. 2549 สมรสกับ นางอุไรวรรณ ภาวิไล มีบุตร 3 คน คือ ภาสุรี ภาวิไล (เอื้อง), ภาสกร ภาวิไล (ชื่อเดิม นิรันดร์ ภาวิไล ปัจจุบันเป็นพระและเป็นผู้อำนวยการธรรมสถานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัดฝ่ายหิน นาม ภาสกร ภูริวฑฺฒโน) และอรุณ ภาวิไล (ซูโม่ตุ๋ย)
ศ.ดร.ระวี เกิดวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2468 เป็นราชบัณฑิต อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของไทย นับเป็นบุคคลที่บุกเบิกการศึกษาด้านดาราศาสตร์รุ่นแรก ๆของไทย และมีส่วนให้สังคมไทยโดยเฉพาะเยาวชนให้ความสนใจการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์มากขึ้น บุคคลทั่วไปอาจเริ่มรู้จักท่านดีในช่วงการมาเยือนของ “ดาวหางฮัลเลย์” เมื่อต้นปีพ.ศ. 2529 นอกจากนี้ยังมีผลงานการประพันธ์และงานแปลที่น่าสนใจมากมาย ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนา วรรณกรรม และปรัชญา
ศ.ดร.ระวีเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ตั้งแต่อายุ 19 ปี สอนหนังสืออยู่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2529
ผลงานทางดาราศาสตร์เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ เคยร่วมประชุมและรับเชิญทำงานวิจัยในต่างประเทศเกือบ 20 ครั้ง มีผลงานค้นคว้าวิจัยสำคัญ ดังเช่นเรื่องโครงสร้างละเอียดของโครโมสเฟียร์ ดวงอาทิตย์ เรื่องโครงสร้างอาณาจักรบริเวณกัมมันต์บนดวงอาทิตย์ เรื่องโครงสร้างและการเคลื่อนไหวของบรรยากาศระดับโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ เรื่องบรรยากาศของดวงอาทิตย์ เป็นต้น
นอกจากนี้เขายังมีความสนใจทางด้านศาสนาและปรัชญา เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม รวมทั้งงานแปลวรรณกรรมคลาสสิก และปรัชญาศาสนา
ในด้านพุทธศาสนาได้คิดค้นแบบจำลองจิต-เจตสิก ใช้ในการช่วยศึกษาและเข้าใจพระอภิธรรม เป็นแบบจำลองที่สามารถแสดงการประกอบของเจตสิกในจิตแต่ละดวงได้สมบูรณ์มาก ใช้ในการศึกษาเพื่อหาองค์ธรรมในพระสูตรได้ด้วย ช่วยให้สามารถศึกษาพระอภิธรรมได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
เคยเป็นกรรมการบริหารโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย และเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516 เป็นราชบัณฑิต, ศาสตราจารย์กิตติคุณ, ผู้อำนวยการธรรมสถานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาค้นคว้าเรื่องการกำเนิดของจักรวาล, การวิจัยเรื่องอุกกาบาตที่ตกในประเทศไทย, ทำงานแปลและงานเขียนบรรยายเรื่องเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ศาสนาและปรัชญา และเป็นหนึ่งในบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
ผลงานหนังสือที่เป็นที่รู้จัก อาทิเช่น คุณค่าชีวิต, ชีวิตดีงาม, ดาวหาง, ดาราศาสตร์และอวกาศผลงานแปล เช่น ทรายกับฟองคลื่น, ปรัชญาชีวิต, ปีกหัก โดย คาริล ยิบรอน ปรัชญานิพนธ์, หิ่งห้อย โดย รพินทรนาถ ฐากูร เป็นต้น