เมื่อเวลา 08.15 น. วันที่ 3 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีการแก้ไขปัญหามาตรฐานการบินของไทยว่า นโยบายของตนแก้ปัญหาจุดหนึ่งจะต้องไม่สร้างปัญหาใหม่ แต่บางครั้งถ้าเกิดปัญหาก็ต้องทำความเข้าใจ และแก้ปัญหาที่ตามมาให้ได้ อย่างเรื่องการประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงาน และไม่มีการควบคุม (ไอยูยู), องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ประเด็นสำคัญปัญหาเกิดขึ้นเยอะมาก 30 กว่าปัญหา ซึ่งเราดำเนินการแก้ไขปัญหาไปแต่ระยะเวลาที่แก้มีจำกัด ซึ่งปัญหา 35 ข้อ บางอันแก้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด บางอันแก้ยังไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเชิงโครงสร้าง เชิงบุคลากร การที่จะหาคนที่จบทางด้านนี้มาบรรจุ เข้าในกรรมการตรวจสอบยังหาได้ยาก เพราะเราไม่ได้ผลิตคนเหล่านี้ออกมา
ตรงนี้คือผลเสียของการที่ไม่ดูแลเรื่องการศึกษาให้มีเพียงพอ ไม่ผลิตให้มีคนตรงกับงานหรือตรงกับความต้องการของประเทศ จึงต้องไปหาจากที่อื่นมา ซึ่งอาชีพเทคนิคการบินเป็นอาชีพที่หากินง่าย เพราะสายการบินในประเทศมีจำนวนมาก ความต้องการสูง ฉะนั้นเขาจ้างไปหมดและการที่เราจะจ้างกลับมาต้องใช้เงินอีกมหาศาล เหมือนกับไปแย่งตัวเขากลับมา ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องแก้ ซึ่งอาจจะนำบุคคลกรของกองทัพอากาศที่มีอยู่แล้วเข้ามาช่วย มิเช่นนั้นคงไปไม่ได้
“วันนี้หลายคนมีอาชีพที่มั่นคงแล้ว หากจะให้เขามาอยู่เขาก็ไม่แน่ใจในวันหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ผมจึงบอกว่าอยากให้พี่น้องคนไทยที่มีศักยภาพ ความรู้ทางด้านเหล่านี้ กลับมาช่วยประเทศจะได้หรือไม่ อาจจะต้องเสียสละเข้ามาสมัคร ผมยินดีรับเข้าอยู่ในกรมการบินพลเรือน ซึ่งการจัดตั้งกรมการบินพลเรือนเดิมมี 10 กว่าคน แต่สายการบินมี 20-30 สาย อันนั้นแหละต้องทบทวนว่า ทำไมจึงตั้งมาได้ ใครเป็นคนรับผิดชอบตรงนี้ ผมไม่อยากจะรื้อฟื้น แต่ต้องแก้ปัญหาให้ได้ โดยจะต้องทบทวนทั้งหมด 20 กว่าสายการบิน ว่าอันไหนผ่านไม่ผ่าน” นายกฯ กล่าว