เทคโนโลยี CCS – พื้นที่ป่าไม้สีเขียว ความหวังแก้วิกฤตสภาพอากาศ บรรลุเป้า Net Zero

เทคโนโลยี CCS – พื้นที่ป่าไม้สีเขียว ความหวังแก้วิกฤตสภาพอากาศ บรรลุเป้า Net Zero

วิกฤตสภาพอากาศเข้าขั้นรุนแรง หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงเกิน 2 องศา ระบบนิเวศทางทะเลอาจล่มสลาย กระทบความมั่นคงอาหารของคนและสัตว์ การบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของไทย อาจต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและดูดซับคาร์บอน (CCS) ควบคู่กับการใช้พื้นที่ป่าไม้ดูดซับคาร์บอน กระทรวงทรัพยากรฯ ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าทั้งจาก​ป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ รวมทั้งพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและในชนบท จับตาการประชุม COP 29 เจรจานโยบายการเงิน ประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุนเงินให้ประเทศกำลังพัฒนา

 

จากความตกลงปารีสที่ระบุว่า ประชาคมโลกจะต้องดำเนินการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ทว่า ขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นถึง 1.3 องศาเซลเซียสแล้ว ทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฤดูกาล การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของคำกล่าวปาฐกถาพิเศษของ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พาณิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในงาน Mae Fah Luang Sustainability Forum 2024

 

 

ดร.พิรุณ กล่าวว่า สถานการณ์โลกร้อนในปัจจุบัน ถึงจุดที่เรียกว่าวิกฤตแล้ว เพราะนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการต่างบอกว่า หากไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นได้ โลกต้องเผชิญกับความเสียหายมหาศาลจนทำให้สังคมและธุรกิจไม่สามารถรับมือได้

โดยหากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นในระดับ 1.5 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 48 เซนติเมตร ทั่วโลกจะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเมดิเตอร์เรเนียน อย่างออสเตรีเลีย บราซิล และเอเชีย ขณะที่ข้าว อาหาร พืช ต่างๆ ก็จะมีผลผลิตลดลง แนวปะการัง 9 ใน 10 เสี่ยงฟอกขาว

แต่ถ้าหากปล่อยให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไปถึง 2 องศาเซลเซียส น้ำทะเลจะสูงขึ้น 56 เซนติเมตร ประชากรโลก 8% จะขาดแคลนน้ำ และผลผลิตการเกษตร จะลดลง แต่ถ้าหากปล่อยให้เพิ่มขึ้นเป็น 3 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 7 เมตร ธารน้ำแข็งหิมาลัยละลายเกินครึ่ง พันธุ์ปลาท้องถิ่นศูนย์พันธุ์ ระบบนิเวศทางทะเลอาจจะล่มสลาย และถ้าอุณหภูมิสูงมากไปกว่านี้ ปัญหาภัยแล้งจะรุนแรงกระทบถึงความมั่นคงอาหาร พืชและสัตว์หลายชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์

 

 

การบรรลุเป้าหมาย Net Zero

แต่ละประเทศเร็วช้า-ต่างกัน

 

ดร.พิรุณ กล่าวต่อว่า ไทยได้ร่วมกับประชาคมโลกตั้งเป้าหมายลดการก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทาง

คาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้งเป้าหมายการมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหลายประเทศได้ตั้งเป้าหมายเช่นเดียวกัน โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ 30-40% ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยได้วางกรอบนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

“ตามเป้าหมายดังกล่าว เกิดการตั้งคำถามว่า ประเทศไทยดำเนินการล่าช้าหรือไม่ ต้องบอกว่าการมุ่งไปสู่เป้าหมายดังกล่าวในแต่ละประเทศอาจมีข้อจำกัดต่างกัน บางประเทศอาจมุ่งไปสู่ Net Zero ได้เร็ว เพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่จะอยู่ที่ภาคพลังงาน สามารถปรับฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาดได้เร็ว ก็อาจจะไปสู่เป้าหมายได้เร็ว แต่สำหรับไทยนอกเหนือจากภาคพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 70% ยังมีภาคส่วนอื่น ๆ คือ ภาคเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเช่นกัน ดังนั้นความสามารถในการลดปล่อยก๊าซแต่ละประเทศอาจจะต่างกัน”

2 ทางรอด ดักจับคาร์บอน-ปลูกป่า

ดร.พิรุณ กล่าวว่า วิธีการที่ไทยจะเดินหน้าสู่เป้าหมายได้ มี 2 กลไกคืออาจจะต้องใช้เทคโนโลยีดักจับและดูดซับคาร์บอน (CCS) เพื่อนำไปเก็บไว้ทั้งบนบกหรือใต้ทะเล หรือการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในการดูดซับคาร์บอนให้มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้​มีพื้นที่ป่า 55% หรือมากกว่า 323 ล้านไร่  ด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าทั้งจาก​ป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ รวมทั้งพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและในชนบท

 

 

พ.ร.บ.โลกร้อน พิทักษ์โลก พร้อมคลอดปี 2568

ส่วนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.โลกร้อน จะเป็นกฎหมายที่กำหนดกลไกทั้งในด้านภาคบังคับและส่งเสริม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยับยั้งการฟอกเขียว

โดยในกฏหมายมีหมวดที่ว่าด้วยการจำกัดสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจแต่ละกลุ่มด้วย ซึ่งคาดว่ากฏหมายฉบับนี้จะได้ใช้ในปี 2568

 

 

4 เป้าประสงค์ ฟื้นฟูความหลากหลายชีวภาพ

นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพก็มีส่วนสำคัญ โดยไทยได้รับรองกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM – GBF) เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ นำไปสู่การบรรลุพันธกิจปี ค.ศ. 2030 (2030 Mission ) และวิสัยทัศน์ ปี ค.ศ. 2050 ให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย 4 เป้าประสงค์ ประกอบด้วย

1.เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทุกระบบนิเวศ 2.ดำรงรักษาหรือเพิ่มพูนประโยชน์ที่ได้รับจากธรรมชาติ 3.แบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม และ4.แก้ปัญหาช่องว่างทางการเงินและแนวทางดําเนินงานอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการบรรลุวิสัยทัศน์ ปี ค.ศ. 2050

 

 

นโยบาย ‘ป่าชุมชน’ ที่ประกาศใช้ฉบับแรกเมื่อปี 2562 เพื่อช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง ‘คนกับป่า’ ให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ด้วยการดูแล และใช้ประโยชน์จากป่า นโยบายนี้ จะเข้ามาเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ เพื่อขับเคลื่อน​เป้าหมายด้าน​วิกฤตสภาพอากาศ พร้อมเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แต่ละชุมชนจากการใช้ประโยชน์ป่าชุมชนทั้ง​การท่องเที่ยว การเพิ่มทั้งรายได้และความมั่นคงทางอาหารจากความหลากหลายทางชีวภาพภายในป่าชุมชน

จับตา COP 29 เทงบ1.3ล้านล้านเหรียญ อุดหนุนเปลี่ยนผ่านประเทศกำลังพัฒนา

ดร.พิรุณ เผยอีกว่า การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 29 (COP 29) ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน มีเป้าหมายสำคัญต้องการยกระดับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 (NDC 3.0) ซึ่งมีกำหนดจัดส่งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2025 สาระสำคัญจะเป็นการหารือเกี่ยวกับ นโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องช่วยเหลืองบประมาณกับประเทศกำลังพัฒนาในการลดก๊าซเรือนกระจก คาดว่ารวมแล้วน่าจะเป็นเงินประมาณ 1.1-1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อกระจายไปยังกว่า 140 ​ประเทศกำลังพัฒนา