‘อภิสิทธิ์’แจงปมงบกลาโหม อนุมัติตามสถานการณ์ –ขออย่าสร้างความขัดแย้ง

‘อภิสิทธิ์’แจงปมงบกลาโหม อนุมัติตามสถานการณ์ –ขออย่าสร้างความขัดแย้ง


“มาร์ค”มั่นใจ กระแสตอบรับดี ปชช. เบื่อการเมืองสาดโคลน – จุดชนวนขัดแย้ง หวังหลังเลือกตั้ง แก้ปากท้อง บ้านเมืองไม่วุ่นวาย ย้ำ งบกระทรวงกลาโหมปรับลดได้ เคยทำมาแล้ว สมัยเป็นนายกฯ ชี้ รัฐประหาร 2 ครั้ง เกิดจากการเมืองล้มเหลว แต่ไม่ใช่ข้ออ้างให้ใครสืบทอดอำนาจ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ ช่วยนายสาทร ม่วงศิริ ผู้สมัครสส.กทม.เขต 24 ของพรรคประชาธิปัตย์หาเสียง ถึงกระแสตอบรับ ของประชาชนที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ว่า ประชาชนให้การตอบรับดีและอยากเห็นประเทศเดินหน้าโดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องให้ตรงจุดและต้องการความมั่นใจว่าการเมืองจะเดินหน้าไปแบบสุจริต สิ่งที่ประชาธิปัตย์พยายามนำเสนอไม่ว่าจะเป็นการที่จะให้ประชาชนเป็นใหญ่ประชาธิปไตยสุจริตหรือการแก้จนสร้างคนสร้างชาติ จึงได้รับการตอบรับดีจากประชาชน
ส่วนที่พรรคภูมิใจไทยปราศรัยว่าการแก้ปัญหาเรื่องราคาข้าวพรรคภูมิใจไทยให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กลไกการทำงานแตกต่างกัน โดยพรรคประชาธิปัตย์นำนโยบายจากประสบการณ์ที่เคยทำเรื่องประกันรายได้และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง อีกทั้งไม่ทำให้วินัยการเงินการคลังเสียหาย ไม่มีการทุจริตกลไกการค้าขายข้าวไม่พัง และเข้าไทยยังสามารถแข่งขันส่งออกได้ ส่วนกรณีพรรคภูมิใจไทย เอาแนวคิดเกี่ยวกับระบบอ้อยน้ำตาลมาใช้กับข้าวซึ่งเป็นความตั้งใจที่ดีแต่ตลาดข้าวกับอ้อยน้ำตาลมีความแตกต่างกันที่ผ่านมาระบบอ้อยน้ำตาลทำได้เพราะดึงราคาน้ำตาลในราคาที่สูงจะเห็นได้ว่าทันทีที่มีการลอยตัวน้ำตาลและราคาลดลงตอนนี้ราคาอ้อยก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จึงมีคำถามว่าถ้าจะใช้ระบบอ้อยน้ำตาลมาทำกับข้าวแปลว่าต้องทำให้คนไทยกินข้าวแพงขึ้นใช่หรือไม่ และการป้อนอ้อยเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำตาลจำนวนโรงงานน้อยมีระบบที่สามารถตรวจสอบได้ในขณะที่การค้าขายข้าวมีหลายประเภทโรงสีมีจำนวนมากเป็นปัญหาที่คงทำได้ยาก ดังนั้นจึงอยากให้ไปฟังจากนักวิชาการว่าแนวทางนี้เป็นไปได้จริงหรือที่จะนำระบบอ้อยน้ำตาลมาทำกับข้าว
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึง การจัดสรรงบประมาณกระทรวงกลาโหม ว่า เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองที่จะจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณทุกกระทรวงทบวงกรม ซึ่งในส่วนของงบกระทรวงกลาโหมก็สามารถปรับลดได้โดยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมามีการลดงบกระทรวงกลาโหมเพียงแค่ครั้งเดียวคือสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีและ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐบาลตนลดสัดส่วนงบประมาณกระทรวงกลาโหม ถ้าเทียบกับตอนที่เข้าไปดำรงตำแหน่งและตอนที่พ้นจากตำแหน่งออกมาแต่เราไม่เคยนำประเด็นเรื่องนี้มาเป็นการเมืองคือการปรับลดงบประมาณเป็นไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องหยิบมาเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองส่วนแต่ละพรรคการเมืองจะเสนอนโยบายก็เป็นสิทธิและต้องอธิบายว่าจะปรับลดด้วยวัตถุประสงค์คืออะไรผลลัพธ์ที่ตามมาคืออะไร ประชาธิปัตย์มีนโยบายที่จะทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพมากขึ้นมีความกระชับมากขึ้นโดยเชื่อว่ากำลังพลบางส่วนที่ถูกใช้ไปในภารกิจที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง สามารถลดได้แต่เราไม่เอาเรื่องนี้มาเป็นความขัดแย้งทางการเมืองดูตามความเหมาะสมและขอให้วางใจได้ว่าจะจัดสรรงบประมาณเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งกองทัพก็เป็นกลไกสำคัญในการทำงานให้กับประเทศ จึงยืนยันว่าการจัดสรรงบประมาณต้องดูตามเหตุผลความจำเป็นและสถานการณ์

อย่างไรก็ดี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อไปว่า การทำรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา มีความขัดแย้งทางการเมืองแต่ไม่ใช่เหตุที่จะบอกว่าการรัฐประหารมีความชอบธรรมหรือไม่ หรือ เมื่อรัฐประหารมาแล้ว 5 ปีจะต้องสืบทอดอำนาจเป็นคนละประเด็นกันแต่ตนพูดมาตลอดว่าการเกิดรัฐประหารทุกฝ่ายต้องร่วมกันรับผิดชอบต้องยอมรับว่ากลไกการเมืองล้มเหลวเปิดช่องให้เกิดการรัฐประหารดังนั้นถ้าจะก้าวให้พ้น แนวทางที่ประชาธิปัตย์เสนอคือเลือกพรรคที่เข้าไปบริหารประเทศแล้วไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดปัญหาอีกโดยเฉพาะบทเรียนที่ผ่านมาคือปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ถ้าจำได้ในปี 2557 ตนเป็นคนเตือนว่ามีโอกาสสูงที่จะเกิดการรัฐประหารขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันหลีกเลี่ยงและพยายามที่จะพูดคุยกับหลายๆฝ่ายหาทางแก้ปัญหาสถานการณ์ผ่าทางตัน แต่ในที่สุดก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายต่างๆจนจบลงที่การรัฐประหาร