อุตตม ชู “มารดาประชารัฐ” สวัสดิการดูแลประชาชน

อุตตม ชู “มารดาประชารัฐ” สวัสดิการดูแลประชาชน


ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ร่วมเวทีดีเบต “ไทยรัฐเวทีดีเบตเลือกตั้ง62 ครั้งที่ 1” โดยได้แสดงวิสัยทัศน์ของพรรคในช่วง 2 นาที ซึ่งกล่าวว่า ในการเลือกตั้งที่ประชาชนชาวไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่คูหากาบัตรในครั้งนี้ พลังพรรคประชารัฐจะเป็นทางเลือกที่มีนโยบายตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยได้ตรงจุดมากที่สุด นโยบายทั้งหมดของพรรคตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่ให้เกิดความเสียหายบอบช้ำแบบที่ผ่านมา

ในระยะเวลาก่อนหน้านี้ นโยบายเน้นใน 3 ด้านหลักด้วยกัน คือการแก้ไขปัญหาสั่งสมที่มีมานาน ในอดีตรัฐบาลก่อนหน้าก็มีความพยายามจะแก้ไข แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ได้แก่เรื่องความเลื่อมล้ำ ที่เกิดจากสวัสดิการที่คนไทยควรจะมี แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับดูแล ทางพรรคจะขยายผลในเรื่องบัตรประชารัฐให้ครอบคลุมทุกกลุ่มของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงวัย ผู้พิการ สตรีมีครรภ์

โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ จะมีการนำเสนอนโยบายที่ครอบคลุมยึดโยงไปถึงการดูแล พัฒนาเยาวชนของประเทศ ซึ่งการดูแลนี้ ต้องดูแลตั้งแต่ก่อนเกิด เราเชื่อเช่นนั้น ตั้งแต่ดูแลมารดาและบุตรในครรภ์ เราเรียกว่า มารดาประชารัฐ เมื่อมีการตั้งครรภ์เรามีนโยบายดูแลด้วยสวัสดิการที่เหมาะสม ดูแลระหว่างคลอดต่อเนื่องไปจนถึงอายุอย่างน้อย 6 ขวบ เพราะช่วงวัยนี้ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของเยาวชน

ขณะที่เมื่อมีการถามในเวทีดีเบตว่า พรรคพลังประชารัฐ มีความมั่นใจมากน้อยแค่ไหนในการจัดตั้งรัฐบาล หัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวว่า พรรคนี้เพิ่งมีอายุได้ไม่นานนัก เพียงประมาณ 3 เดือน และมักจะมีคำถามเสมอว่า การตั้งพรรคครั้งนี้เป็นการเอาจริงเอาจังในเส้นทางการเมืองหรือไม่ จะตั้งพรรคถาวรต่อไปไหม จึงขอเรียนว่า จะเป็นการทำงานการเมืองถาวรในนามของพรรคการเมืองนี้

“เราพร้อมที่จะนำบทบาททางการเมืองทั้งหมด แต่ในเวลานี้ทางพรรคก็ได้พูดอยู่เสมอว่า วันนี้ประเทศไทยอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ดังนั้น เราอยากที่จะมีโอกาสที่จะไปทำงานในส่วนของการขับเคลื่อนนโยบาย จึงจะต้องเป็นรัฐบาล ถามว่าเรามีความมั่นใจไหม เรียนว่าก่อตั้งพรรคนี้ขึ้นมา เรามีความมั่นใจตั้งแต่วันแรก วันนี้เราก็มั่นใจเหมือนเดิม ว่าเรามีโอกาสที่ดีที่จะเป็นรัฐบาล”
ต่อการถามถึงประเด็นเสียงส่วนรัฐสภาหรือ ส.ว.250 เสียงที่จะสามารถช่วยในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น นายอุตตม กล่าวว่าไม่ได้หวังเสียงในส่วนนั้น เพราะว่าการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ เกิดขึ้นจากการร่วมอุดมการณ์กันของกลุ่มคน และตั้งใจที่จะทำงานการเมืองอย่างถาวร และเราก็ทำในวิถีของคนไทย ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วก็ทำตามกฎเกณฑ์กติกาของรัฐธรรมนูญ เราลงแข่งขันเต็มที่ เราทำเต็มที่ในส่วนของเรา ไม่ได้ไปหวังเอาปัจจัยพิเศษหรือว่ากำลังภายในใดๆมาช่วยเหลือพรรค

ทั้งนี้ มีการถามต่อไปถึงเรื่องที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตของพลังประชารัฐ เป็นคนเลือก ส.ว.250 คนเข้าสภา การนับเสียงเลือกนายกฯ จะเริ่มนับยังไง นายอุตตม กล่าวว่า คงจะไม่ใช่เช่นนั้น คนที่พรรคยื่นเสนอไปคือตัว พล.อ.ประยุทธ์ เพราะทางพรรคได้พิจารณาร่วมกันและเห็นว่าท่านมีคุณสมบัติเหมาะสม

“ในส่วนของพรรคนั้น พิจารณามองไปข้างหน้า ในกรณีนี้ พล.อ.ประยุทธ์มีความเหมาะสมในการเดินตามแผนงาน แล้วตัวพล.อ.ประยุทธ์ ได้รับความไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำหนดไว้แล้วว่า จะต้องทำอย่างไรในทางการเมือง “

เมื่อถามถึงประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง หัวหน้า พปชร. บอกว่าเรียนตามตรงว่า ต้องเป็นรัฐบาลผสม เพราะฉะนั้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจาก ส.ว.นั้นอยู่ในสายตาประชาชน ไม่เชื่อว่าจะมีกลุ่มใดที่จะฝืนเจตนาคนดู คือ ประชาชน ที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศนี้ ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้สั่งการจากที่ใดที่หนึ่งในหรือนอกประเทศไม่มี

“คิดว่ากลไกนี้ ไม่ได้ทำอะไรให้เกิดความพิเศษกับพลังประชารัฐเลย ทำไปฝืนสายตา ใครที่ฝืนสายตา ประชาชนก็ไม่รับ ถ้าประชาชนไม่รับพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย จะอยู่ได้อย่างไร”

เมื่อมีการถามต่อไปถึงการที่หากมีพรรคอื่นๆ ได้คะแนนนำมาแล้ว ส.ว.จะทำการโหวตเลือกบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯหรือไม่ นายอุตตม มองว่า ส.ว.จะพิจารณาตามความต้องการของประชาชน คงไม่มีการไปตั้งใครฝืนความต้องการ แต่ถ้าส.ว.ทั้ง 250 คนจะโหวต พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็ต้องรอให้ถึงเวลานั้นก่อน อย่าพึ่งไปตีตนก่อนไข้ ซึ่งในความเป็นจริงวันนี้ เป็นการนำเสนอนโยบายต่างๆ ของทุกพรรคการเมือง จึงอยากขอว่า อย่าไปคิดว่าใครมาแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้น

“คิดว่าคนไทยวันนี้ไม่อยากเห็นสิ่งเหล่านั้น วันนี้คงอยากฟังว่า เรานำเสนออะไร กฏเกณฑ์มีตามนี้ คนที่จะไม่ทำตามกฎ ก็จะประจักษ์ออกมาในสายตาประชาชน”

ในส่วนของการเลือกนายกฯ ที่ใช้เสียง ส.ว.นั้นควรจะใช้วิธีแบบไหนให้ถูกต้องตามกฏที่เขียนขึ้นมา นายอุตตม กล่าวต่อไปว่า ควรจะเป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกาที่มี และข้อต่อมาคือตามมารยาททางการเมือง ซึ่งทั้งหมดนี้มันจะปรากฏด้วยตัวเอง เมื่อผลออกมาแล้วว่าประชาชนให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจกับพรรคการเมืองไหน อย่างไร และในระดับไหน

“เมื่อไปถึงตรงนั้น ก็จะชัดเจนว่าจะจัดตั้งรัฐบาลกันอย่างไร เป็นรูปแบบไหน มากกว่าที่เราพูดกัน ในขณะนี้ก็พูดได้ ทุกพรรคก็พูดกัน และอาจจะมีบางพรรคคุยกันบ้าง แต่ว่าพอถึงตรงนั้นแล้ว อย่าเพิ่งไปกำหนดอนาคตในวันนี้ คิดว่ารูปแบบควรจะออกแบบไหน กำหนดในแบบที่ตัวเราเองพูดกัน แล้วทำตามกติกาแล้วกัน ทำตามประเพณีที่มี แล้วก็จะไปถึงจุดที่ประชาชนเห็นเอง” หัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
https://www.thaiquote.org/content/64908