พระราชประวัติ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพรรคไทยรักษาชาติ
หลังจากเกิดกระแสข่าวลือมาตลอด 2 วันที่ผ่านมา จนเมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.ของวันนี้ (8 ก.พ.62) เมื่อพรรคไทยรักษาชาติ เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรค ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คือ “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี”
ประเทศไทยยึดถือระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งสถาบันกษัตริย์จะไม่ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงที่ออกจากฐานันดรศักดิ์ แต่ยังอยู่ในในฐานะเชื้อพระวงศ์ ได้ตัดสินใจเข้าร่วมการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2494 เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเป็นพระเชษฐภคินีพระองค์เดียวในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นจนสำเร็จจากโรงเรียนจิตรลดา ครั้นทรงสำเร็จมัธยมศึกษา ได้เสด็จไปประทับ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีจนสำเร็จ ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ชีวเคมี (Bachelor of Science Degree in Bio-Chemistry)
จากนั้น ทรงเข้ารับการศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ณ ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (Statistics and Public Health) จนสำเร็จในการศึกษา
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ เพื่อทรงอภิเษกสมรสกับปีเตอร์ แลด เจนเซน ชาวอเมริกัน ในพระบรมหาราชวังตามราชประเพณี และเสด็จประทับอยู่สหรัฐอเมริกา ทั้งทรงเปลี่ยนพระนามเป็น จูลี เจนเซน (อังกฤษ: Julie Jensen) ทั้งสองมีโอรส-ธิดา 3 คน ทั้งหมดเกิดในสหรัฐอเมริกา ได้แก่
คุณพลอยไพลิน เจนเซน (12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524)
คุณพุ่ม เจนเซน (นามเดิม: ภูมิ เจนเซน 16 สิงหาคม พ.ศ. 2526 – 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547) เสียชีวิตจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิอันเกิดจากแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2547
คุณสิริกิติยา เจนเซน (นามเดิม: ใหม่ เจนเซน 18 มีนาคม พ.ศ. 2528)
ในปี พ.ศ. 2541 ได้ทรงหย่ากับปีเตอร์ เจนเซน กลับมาใช้นามเดิมคือ อุบลรัตน์ มหิดล และกลับประเทศไทยพร้อมคุณพุ่ม หลังผ่านปัญหาการหย่าร้างกับอดีตพระภัสดาที่ยาวนานสองปี โดยเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรเมื่อ พ.ศ. 2544
ทั้งนี้ โดยหลังเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในด้านการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในโครงการทูบี นัมเบอร์ วัน ทรงช่วยเหลือราษฎรและให้โอกาส ผู้พิการ เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ทั้งยังทรงแสดงภาพยนตร์ และทรงเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์
พระกรณียกิจ
ด้านสังคม
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจด้านการช่วยเหลือราษฎรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยทรงตั้งมูลนิธิชีวิตสดใส เป็นองค์กรสาธารณกุศล นอกจากนี้ ยังทรงตั้งมูลนิธิ Miracle of Life เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการช่วยเหลือ ด้านการศาสนา โดยได้เสด็จหรือโปรดให้ผู้แทนพระองค์ไปดูความคืบหน้าของโครงการอยู่เป็นประจำ
ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มีพระดำริให้มีและทรงรับเป็นองค์ประธานโครงการ “TO BE NUMBER ONE” เพื่อรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาทั่วประเทศ และหน่วยงาน องค์กร ชุมชนต่าง ๆ ตามพระปณิธาน “ทุกคนเป็นหนึ่งได้โดยไม่พึ่งยาเสพติด” มุ่งหมายให้เยาชนใช้เวลาว่างมาร่วมกิจกรรมอันเปิดโอกาสให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก
นอกจากนี้ ยังมี “ศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น” ซึ่งให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาต่าง ๆ ของเยาวชน เช่น ปัญหาครอบครัว และปัญหายาเสพติด มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่มากถึง 31 ล้านคน หรือครึ่งประเทศ นอกจากนี้ ยังทรงเปิดศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่นทั่วประเทศ และเสด็จมาเยี่ยมชมและพระราชทานรางวัลในการประกวดของชมรมทูบีนัมเบอร์วันและงานรวมพลคนทูบีครั้งใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีด้วย
ด้านการกีฬา
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มีพระปรีชาในกีฬาเรือใบ และเคยทรงลงแข่งกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งแปรพระราชฐานยังพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ ทรงเคยเข้าร่วมการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในฐานะนักกีฬาทีมชาติ ที่งานกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510
และทรงทำคะแนนรวมได้เป็นที่ 1 เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงร่วมการแข่งขันเช่นกัน จึงได้รับพระราชทานเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ด้านการบันเทิง
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้ทรงละคร อาทิ กษัตริยา มหาราชกู้แผ่นดิน อนันตาลัย ดาวหลงฟ้า ภูผาสีเงิน รวมถึงภาพยนตร์ตามบทพระนิพนธ์ อาทิ หนึ่งใจ..เดียวกัน มายเบสท์บอดี้การ์ด และพระนางจามเทวี ภาพยนตร์ทั้งสามเข้าฉายในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ โดยเสด็จไปทรงร่วมงานเทศกาล และนำรายได้ทั้งหมดในการจัดฉายภาพยนตร์ไปช่วยเหลือประชาชนและผู้ประสบภัยพิบัติทั่วประเทศ พร้อมกับทรงถ่ายรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับพระองค์ตามคำกราบทูลเชิญของคณะบุคคลต่างๆ ได้แก่ รายการทูบีนัมเบอร์วัน วาไรตี้ พรินเซสไดอารี และทรงมีผลงานเพลงหลายผลงานด้วย
นอกจากนี้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ยังสนด้านเทคโนโลยี ทรงเป็นเจ้าฟ้าสมัยใหม่ มีช่องทางสื่อสารกับประชาชนโดยตรงผ่านโซเชี่ยลมีเดีย อินสตาแกรม โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า Nichax เพื่อโพสต์พระรูปส่วนพระองค์ในพระอิริยาบถต่างๆ ด้วยพระจริยาวัตรเรียบง่าย ให้ประชาชนเข้าไปชื่นชมและพูดคุยจนเป็นที่ชื่นชมจากพสกนิกรว่าทรงเป็นเจ้าฟ้าทันสมัย และทรงเป็นผู้นำแฟชั่น
ขอบคุณข้อมูล
khaosod
thebangkokinsight
Facebook เรารัก “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี”