ส่อง ระเบียบหาเสียงผ่านโซเชียล เหตุใด นักการเมืองถึงหวั่น ?

ส่อง ระเบียบหาเสียงผ่านโซเชียล เหตุใด นักการเมืองถึงหวั่น ?


เปิดระเบียบกกต. การหาเสียงผ่านโซเชียล เหตุใด นักการเมืองถึง หวาดกลัว กล่าวหาว่าเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง เป็นการจำกัดสิทธิ หรือ ป้องกันการใส่ร้ายป้ายสีกันแน่ ?

หลังจากกกต. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งและวันรับสมัครเลือกตั้งเป็นที่ชัดเจนแล้ว มีประเด็นที่นักการเมืองบางคนบางกลุ่ม ออกมาแสดงความเห็นถึง อุปสรรคของระเบียบกกต. ในเรื่องของการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่าเป็นขอจำกัดทำให้การหาเสียงเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยยุ่งยากเกินไป โดยเฉพาะหลังจากประกาศวันรับสมัครเลือกตั้งแล้ว บรรดานักการเมืองต่างพากันหยุดการเคลื่อนไหวบนโลกโซเชียล ปิดเพจไว้ก่อนด้วยเกรงจะผิดระเบียบกกต.

วันนี้ลองมาดูระเบียบ กกต. ในเรื่องการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ สื่อโซเชียลกันอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร เป็นอุปสรรคเหมือนกับที่นักการเมืองกล่าวหาหรือไม่

ระเบียบกกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งส.ส. 2561

–การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์

กำหนดให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง สามารถหาเสียงด้วย ตนเอง หรือ ว่าจ้างบุคคลนิติบุคคลดำเนินการได้ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ทั้งยูทูปเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น อีเมล์ เอสเอ็มเอส โดยผู้สมัครต้องแจ้งวิธีการรายละเอียดช่องทางระยะเวลาการหาเสียงรวมถึงหลักฐานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ให้ผอ. กกต. ประจำจังหวัดทราบตั้งแต่วันสมัครหรือก่อนหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับ ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้สมัคร หรือ สมาชิกพรรค หากต้องการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับผู้สมัครพรรคการเมืองใดต้องแจ้งชื่อ สกุล นิติบุคคล หรือเครื่องหมายใด ๆ ที่สามารถเจาะจงตัวบุคคลที่ดำเนินการได้ โดยค่าใช้จ่ายในการหาเสียงส่วนนี้ หากเกินกว่า 10,000 บาทต้องแจ้งให้ผู้สมัครพรรคการเมืองทราบและให้แจ้งต่อ ผอ. กกต.จังหวัดเลขากกต. ทราบ และการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร พรรคการเมืองนั้น

กรณีกกต.พบว่ามี การใช้ถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดมหรือนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้อง สามารถสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ลบข้อมูลนั้น หากผู้สมัครพรรคการเมืองไม่ดำเนินการในเวลาที่กำหนด เลขากกต.สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการ ดำเนินการโดยผู้สมัครพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ลบข้อมูล ไม่สามารถลบล้างความผิดที่ได้กระทำสำเร็จแล้วได้ ซึ่งกกต. สามารถนำมาสืบสวนและวินิจฉัยได้

สรุปคือ ผู้สมัคร ส.ส. จะใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ สื่อโซเชียล ใดๆก็ได้ในการหาเสียง จะทำด้วยตัวเองก็ได้ จะ ให้คนอื่น ที่ไม่ใช่สมาชิกมาทำก็ได้ จะจ้างองค์กรใดมาทำให้ก็ได้ แต่ต้องแจ้งรายละเอียดตัวตน คนทำ และช่องทางที่จะใช้ให้กกต. รู้ตัวตนก่อน และ ค่าใช้จ่ายต่างๆนับเป็นค่าใช้จ่ายหาเสียงต้องแจ้งกกต.หากเกิน 1 หมื่นบาท ที่สำคัญหากข้อความการหาเสียงพบมีการใช้คำหยาบ รุนแรง ปลุกระดม นำสถาบันมากล่าวอ้าง เมื่อตรวจพบ ต้องแก้ไขทันที ลบทันที แต่ การแก้ไขการลบก็ไม่พ้นความผิดใดใดได้หากมีการนำมาวินิจฉัยในภายหลัง