ถอดรหัส ซีพีเอฟ ท็อป1 DJSI ชูมั่นคงอาหาร บนโจทย์ วิกฤติอากาศ

ถอดรหัส ซีพีเอฟ ท็อป1 DJSI ชูมั่นคงอาหาร บนโจทย์ วิกฤติอากาศ


ซีพีเอฟ ทำสกอร์อันดับ 1 ดัชนี DJSI ปี 2023 ตอบโจทย์ดัชนีความยั่งยืน กลุ่มอุตฯ อาหาร ตรงประเด็น สอดคล้องทิศทางขับเคลื่อนโลกยั่งยืน ตามหลัก ESG และ SDGs ชูยุทธศาสตร์ “มั่นคงทางอาหาร” กลางวิกฤติ”สภาพอากาศแปรปรวน” ทรัพยากรไม่เพียงพอต่อประชากรโลก8พันล้าน เผยผลลัพธ์ผลิตอาหารถึง 23 ล้านคนต่อวัน ปลอดภัย ตอกย้ำ “ครัวของโลก”

 

 

ความท้าทายกับในสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ทุกคนบนโลกต่างรับมือกับ ภาวะวิกฤติโลกเดือด ภาคการผลิตอาหารจึงมีความเสี่ยงในการควบคุมการผลิตอาหารให้กับประชากรทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านคนในปีที่ผ่านมา สะท้อนความเสี่ยงทรัพยากรที่ขาดสมดุลกับมวลมนุษยชาติ

หนึ่งในกองทัพสำคัญของผู้ผลิตอาหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ วางวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ผู้ผลิตอาหารของไทย ขยายการลงทุนไปกว่า 17 ประเทศ จึงต้องวางกลยุทธ์บริหารจัดการทั้งความเสี่ยงด้านภาวะวิกฤติสภาวะอากาศ ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร “Climate People และ Food Security” กับเพื่อสานต่อพันธกิจสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในภาวะปกติและวิกฤติ

ในปีนี้ ซีพีเอฟ ได้คะแนนสูงสุดจากดัชนีความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Indices(DJSI) ปี 2023 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Products) เป็นปีแรก ซึ่งเป็นการประเมินตามหลักการของS&P Global หลังจากที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ในกลุ่มประเภทตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)

การติดอันดับ 1 เป็นสิ่งสะท้อนยุทธศาสตร์ ตัวแทนบริษัทของไทย “ครัวของโลก”ที่สามารถรักษามาตรฐานความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน ส่งมอบความมั่นคงทางอาหารไปพร้อมกับการรักษาสิทธิมนุษยชน บนพื้นฐานหลักการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยเกี่ยวกับการได้รับการประกาศผลการประเมินมาตรฐานของความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ CPF คือ Climate People และ Food Security ที่มีพันธกิจสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในภาวะปกติและวิกฤติ พร้อมกับส่งเสริมโภชนาการที่ดีบนพื้นฐานสำคัญ ตามหลักธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) และเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) สอดคล้องใน 3 ประเด็น หลัก อาทิ

SDG 2 : การขจัดความหิวโหย ด้วยการ ส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร ส่งเสริมอาชีพ สร้างแหล่งอาหารและเสถียรภาพทั้งระดับชุมชน ประเทศ และในต่างประเทศ

SDG6: การจัดการน้ำ ด้วยโครงการอนุรักษ์แหล่งน้ำสำคัญ บริหารจัดการการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการใช้น้ำ

SDG13: การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยได้มุ่งมั่นต่อองค์กรความร่วมมือ Science-Based Targets initiative (SBTi) ช่วยภาคธุรกิจกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก

อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน มีการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่เกษตรกร คู่ค้าธุรกิจ ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน พนักงาน ชุมชน ควบคู่เป้าหมายก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม (Innovation Management) ที่มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพและโภชนาการที่ดี (Health & Nutrition) สำหรับผู้บริโภค โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ตลอดจนใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Resource Efficiency and Circularity)

 

 

 

ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจด้วยวิสัยทัศน์เป็นครัวของโลกที่ยั่งยืน ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และยึดมั่นในปรัชญาสามประโยชน์สู่ความยั่งยืน ตามดำริของประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ คือ มองประโยชน์ของประเทศ ประชาชน และบริษัท เป็นแนวทางขับเคลื่อนองค์กร มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีโภชนาการ และรสชาติอร่อย ให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลก

“ความมั่นคงทางอาหารคือรากฐานความเท่าเทียมของมนุษยชาติและความสมดุลของสิ่งแวดล้อม บนรากฐานการบริหารจัดการองค์กรตามหลักธรรมาภิบาล พนักงานทุกคนและผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า มีส่วนร่วมสานแนวคิดด้านความยั่งยืน สู่การปฏิบัติจริงที่มีคุณค่า และมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้บริโภคจำนวนกว่า 23 ล้านรายต่อวัน เข้าถึงอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ดี ปลอดภัย และพร้อมรับมือในทุกภาวะวิกฤติ เป็นการร่วมผลักดันเส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของซีพีเอฟ เพื่อเป็น”ครัวของโลก” ที่ยั่งยืน” นายประสิทธิ์ กล่าว

บริษัท ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตั้งแต่กระบวนการ ผลิตอาหารสัตว์ (Feed) การเลี้ยงสัตว์ (Farm) และการแปรรูปอาหาร (Food)อาทิ มีการคิดค้นนวัตกรรมโปรไบโอติกมาใช้ในอาหารสัตว์ ทั้งสุกร ไก่ กุ้ง ช่วยสร้างสมดุลลำไส้ เสริมภูมิคุ้มกันให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วย จึงไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ และมุ่งมั่นยกระดับเนื้อไก่ไทยสู่มาตรฐานความปลอดภัยระดับอวกาศ (Space Food Safety Standard)ในโครงการ”ไก่ไทยจะไปอวกาศ” เป็นครั้งแรกที่ผลิตภัณฑ์อาหารของไทย ก้าวสู่มาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงที่ไม่ใช่แค่ระดับโลก แต่เป็นมาตรฐานความปลอดภัยระดับเดียวกับที่นักบินอวกาศสามารถรับประทานได้ ตามหลักเกณฑ์ของ Space Food Lab ซึ่งมีการตรวจสอบลงลึกในรายละเอียดมากกว่า 40 การตรวจสอบ

นอกจากนี้ ในสถานการณ์การโลกเปลี่ยนแปลง สภาวะอากาศแปรปรวน (Climate Change) จึงมี ปัจจัยเสี่ยงและความท้าทาย บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมรับมือสู่การเปลี่ยนผ่านในทุกมิติ ประกอบด้วย

     -การบริหารความเสี่ยงองค์กรรอบด้าน
     -กำกับดูแลด้านการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์
     -สร้างความมั่นคงและความปลอดภัยด้านข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัล
     -จัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ
     -ตลอดจนการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ
     -เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศที่ดีให้แก่โลก
     – การบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีความผูกพันที่ดีกับองค์กร
     -ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในงานที่รับผิดชอบ
     -เสริมสร้างทักษะที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
     -ส่งเสริมวัฒนธรรมการเป็นคนดีของสังคม
     -ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม
     -ยอมรับความหลากหลายและแตกต่างโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ซีพีเอฟ ได้ประกาศเจตนารมณ์เป็นองค์กรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net-Zero) ภายในปี 2050 และเป็น “ผู้ผลิตอาหารรายแรกของโลก” ที่ได้รับการอนุมัติเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ สอดคล้องตามมาตรฐาน Forest, Land and Agriculture Guidance (FLAG) ซึ่งเป็นมาตรฐานเฉพาะสำหรับภาคเกษตรและอาหารจากองค์กร The Science Based Targets initiative (SBTi) องค์กรไม่แสวงหากำไรระดับโลกที่สนับสนุนและให้การรับรองอย่างอิสระในการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแก่ภาคธุรกิจเพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ

ปัจจุบัน ซีพีเอฟ มีการลงทุนขยายกิจการในประเทศไทยและกิจการต่างประเทศ ทั้งลงทุนโดยตรง และร่วมลงทุนใน 17 ประเทศ ส่งออกไปมากกว่า 40 ประเทศ ครอบคลุมประชากรมากกว่า 4,000 ล้านคน บริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ เป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน จากการประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก ทั้งในด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ตอกย้ำการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนในระยะยาว และเติบโตอย่างมั่นคงพร้อมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลกที่ยั่งยืน”