Sustainable Growth จาก ทีทีบี เสริมทัพความรู้ด้าน ESG ลูกค้าธุรกิจ และ SME เร่งปรับตัวดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ทีทีบี วางแนวทางการดำเนินธุรกิจสู่ “ธนาคารเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Banking) ตามกรอบ B+ESG บนพื้นฐานทุกห่วงโซ่ธุรกิจ ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตร เติบโตยั่งยืนไปพร้อมกัน
ในแต่ละปีทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก หากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นสูงสุดได้ถึง 4 องศา สิ่งที่ตามมาคือ ภัยแล้งและพายุรุนแรงขึ้น น้ำทะเลร้อนและสูงขึ้น อาหารขาดแคลน เกิดปัญหาสุขภาพ ความยากจน และอาจจะเลวร้ายถึงการสูญพันธ์ในสัตว์บางชนิดได้ในที่สุด
หากพิจารณาสถานการณ์ในประเทศไทยพบว่า สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยต่อโลกสูงถึง 0.9% ในขณะที่สัดส่วนของ GDP ไทยต่อโลกอยู่ที่ 0.6%
ประเทศไทยจึงได้รับการประเมินให้เป็นประเทศลำดับต้น ๆ ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจากภัยแล้ง น้ำท่วม และการเติบโตของ GDP
ESG แนวคิดในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนที่มาจากคำว่า Environment, Social, Governance ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยนับเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environment) เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและทุกชีวิตบนโลก
นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่ภาคธุรกิจจะต้องกำหนดเป็นภารกิจ เพื่อร่วมใจกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
การสร้างการรับรู้และตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมของ ทีเอ็มบีธนชาต เริ่มที่การจัดสัมมนา Sustainable Growth – The way to Business of the Future เติมเต็มความรู้ให้แก่ลูกค้าธุรกิจ และ SME พัฒนาองค์กรด้วยแนวคิด ESG พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ที่ทำให้ธุรกิจสามารถปรับตัวตามแนวคิด ESG ได้ง่ายกว่าที่คิด เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง เตรียมความพร้อม ให้ลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมรับมือกับมาตรการการค้าจากนานาประเทศ
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ แต่ยังเป็นการรับมือกับมาตรการทางการค้าที่หลายประเทศเริ่มนำมาใช้ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
· CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนสหภาพยุโรป หรือ CCA (Clean Competition Act)
· มาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนของสหรัฐอเมริกา
· ส่วนประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงกติกาใหม่อย่าง Thailand Taxonomy เพื่อผลักดันภาคธุรกิจเข้าสู่แนวคิด ESG
· พ.ร.บ. Climate Change ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้
· นอกจากนี้ องค์กรใหญ่หลายแห่งก็ได้เริ่มกำหนดให้ซัพพลายเออร์และคู่ค้าต้องดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
“หากธุรกิจไม่สามารถทำตามเกณฑ์ที่เกิดขึ้นใหม่ก็อาจสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจ หรือมีต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นได้” นายศรัณย์ กล่าว
โดยการจัดงานสัมมนา Sustainable Growth -The way to Business of the Future ในครั้งนี้ เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจเรื่อง ESG และอยากกระตุ้นให้ลูกค้าตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้
ภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานนำไปปรับใช้กับองค์กรได้ง่ายขึ้น ได้แก่ นายบุญรอด เยาวพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด ได้กล่าวถึงมาตรการและผลกระทบของ CBAM, ดร.อรศรัณย์ มนุอมร ที่ปรึกษา Climate Bonds Initiative (CBI) ได้มาแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับ Thailand Taxonomy โอกาสและความท้าทายในการนำ Taxonomy ไปใช้
ร่วมด้วยนายธาดา วรุณโชติกุล ผู้จัดการโครงการ Net Zero สำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO)ที่มาแนะแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก แนะนำเครื่องมือ รวมทั้งวิธีคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์
ภายในงานยังได้จัดเสวนาเพื่อแชร์ประสบการณ์จากบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ในการปรับตัวเพื่อเข้าถึง ESG เตรียมพร้อมเส้นทางสู่ความยั่งยืนของธุรกิจไทย โดย ดร. ศรายุธ แสงจันทร์ Managing Director – Health Product and Sustainability บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, ดร. ณัฐกร ไกรกุล Vice President – Decarbonization Center of Excellence บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ นายกมลพันธ์ ลักษณา หัวหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต
ธนาคารยังให้การสนับสนุนธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมด้วยสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) และสินเชื่อสีฟ้า (Blue Loan) ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการพลังงานชีวภาพ โครงการจัดการของเสีย อาคารสีเขียว ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายของประเทศไทยในการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065
โดยปีที่ผ่านมาได้ให้สินเชื่อสีเขียวไปแล้วกว่า 13,000 ล้านบาท รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อรถยนตร์ EV อีกด้วย