สภาคองเกรสสหรัฐฯ เคาะกฎหมายเปิดสัมปทานขุดเจาะน้ำมันที่ “อาร์กติก” 4 ปี นักอนุรักษ์เชื่อกระทบหมีขั้วโลก แถมสัตว์ป่าหายากในพื้นที่แน่
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าวระบุว่า กระทรวงมหาดไทยของสหรัฐอเมริกา จะเปิดให้มีการเช่าสัมปทานขุดเจาะน้ำมันบริเวณที่ราบชายฝั่งของเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอาร์กติก หรือ Arctic National Wildlife Refuge – ANWR ท่ามกลางเสียงคัดค้านของนักอนุรักษ์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าหายากหลายชนิด ทั้งกวางแคริบู หมีขาวขั้วโลก เป็นต้น และยังหวั่นเกรงว่าการขุดเจาะน้ำมันจะกระทบกับระบบนิเวศของพื้นที่อีกด้วย
ทั้งนี้ เหตุผลของรัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าพื้นที่ดังกล่าวน่าจะมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองอยู่อย่างมหาศาล แม้ก่อนหน้านี้บริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอาร์กติก จะถูกห้ามสำรวจเพื่อขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่ท้ายสุดสภาคองเกรสก็เห็นชอบ
นอกจากนี้ คำยืนยันจากนายโจ บาลาซ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยสหรัฐฯ ฝ่ายจัดการทรัพยากรที่ดินและแร่ธรรมชาติ ที่ออกมาระบุถึงการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวว่า “การเช่าสัมปทานจะเกิดขึ้นภายในปี 2019” ซึ่งเป็นถ้อยคำยืนยันล่าสุดที่กล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมาในเวที เสวนาภาคอุตสาหกรรมน้ำมันที่เมืองแองเคอเรจ และทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทันที
สภาคองเกรสผ่านกฎหมายภาษีฉบับใหม่ที่ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวซึ่งระบุว่าสามารถจัดทำสัมปทานขุดเจาะน้ำมันได้ และจะมีการปล่อยเช่าพื้นที่สัมปทานอย่างน้อย 4 แสนเอเคอร์บนพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอาร์กติก และมีระยะเวลาสัมปทานนานถึง 4 ปีด้วยกัน
เสียงจากนักอนุรักษ์สะท้อนว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ใส่ใจอย่างเพียงพอต่อการศึกษาถึงกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากจะให้มีการสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน และจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ หลายฉบับอีกด้วย
โดยนายอดัม โคลตัน ผู้บริหาร Alaska Wilderness League องค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหาผลกำไร ออกมากล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การอนุมัติปล่อยเช่าสัมปทานที่อาร์กติกถือว่าทำได้อย่างรวดเร็ว เร็วและเร่งรัดกว่าพื้นที่อื่นๆ ด้วยซ้ำ นั่นเพราะรัฐบาลต้องการดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบเวลาทางการเมือง โดยไม่มีการตรวจสอบผลกระทบอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่า และการขุดเจาะน้ำมันจะกระทบต่อประชากรหมีขั้วโลกที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวอย่างแน่นอน