ทีดีอาร์ไอ เสนอรัฐ นำบัตรรถไฟฟ้ามาลดหย่อนภาษีได้ พร้อมเพิ่มเงินบัตรสวสัดิการรัฐ 700-800 ให้คนจนมีสิทธิ์นั่งรถไฟฟ้า หลังผลการศึกษาชี้ตั๋วรถไฟฟ้าไทยแพงกว่าสิงคโปร์ 20%
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ปัญหาที่กรมการขนส่งทางรางต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน คือ การควบคุมค่ารถไฟฟ้าในเมืองหลวงและโครงการเกี่ยวเนื่อง เพราะจากการเก็บข้อมูลพบว่าค่ารถไฟฟ้าในเมืองนั้นแพงเกินกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง แต่คนจนกลับใช้ไม่ได้
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าว สอดคล้องกับผลการศึกษาที่พบว่าค่ารถไฟฟ้าในเมืองหลวงของไทยนั้นสูงกว่าค่ารถไฟฟ้าในประเทศสิงคโปร์มากกว่า 20%
ดังนั้น รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องรถไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาจราจรหรือไม่ โดยเรื่องรถไฟฟ้าเป็นสิ่งใกล้ตัว ซึ่งคงจะดีหากมีการส่งเสริมให้นำบัตรลดไฟฟ้ามาลดหย่อนภาษีได้ เพราะผลศึกษาพบว่าอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 1,000 บาท/คน ดังนั้นการลดหย่อนภาษีปีละ 10,000 บาทเป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญ
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลควรทบทวนการส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยใช้รถไฟฟ้าผ่านบัตรสวัสดิการ โดยจากค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ยต่อเที่ยวอยู่ที่ 30-40 บาท เงินที่มีรัฐสนับสนุน 500 บาท/เดือน จึงอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นรัฐบาลอาจต้องพิจารณาเพิ่มวงเงินเป็น 700-800 บาท/เดือน ให้เหมาะสมกับศักยภาพรายได้
ด้าน นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า กรมการขนส่งทางรางอยู่ระหว่างศึกษาระบบกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางสำหรับประเทศไทย โดยภายในปีนี้คาดว่าร่างพระราชบัญญัติกำกับกิจการขนส่งทางรางจะได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ทำให้กรมการขนส่งทางรางมีบทบาทหน้าที่เต็มในการดำเนินงาน
“ภารกิจสำคัญลำดับต้นๆ ของกรมการขนส่งทางราง คือ การปรับปรุงอัตราค่าโดยสารใหม่ ล่าสุดมีแนวคิดว่าจะนำเงินภาษีที่จัดเก็บโดยท้องถิ่นจากการต่อภาษีรถยนต์ประจำปีมาอุดหนุนอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า เพื่อให้ราคาถูกลง หรือพิจารณาจากกองทุนอื่นๆ นำมาดำเนินการลักษณะเดียวกัน” นายสรพงษ์ กล่าว
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
“คมนาคม”ผนึก”ศิริราช”ผุดสถานีรถไฟฟ้าในตึกผู้ป่วย