วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกในเดือนมกราคม 2562 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีนี้พบว่ามีมูลค่า 18,993.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 5.65 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยสาเหตุสำคัญนั้นมาจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนการตอบโต้ไปมาในสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร แต่ทั้งนี้ ผลดังกล่าวได้สร้างความกดดันให้การค้าการส่งออกทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่การส่งออกติดลบอย่างต่อเนื่อง และอาจจะลดลงไปถึงทั้งไตรมาสแรกนี้ด้วย
นอกจากนี้ ปัจจัยลบเพิ่มเติมที่ส่งผลให้การส่งออกไทยติดลบในเดือนมกราคม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกก็ลดลง ขณะที่กลุ่มสินค้ายานยนต์ของไทยเกิดปัญหาด้านการขนส่งในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา และประเด็นความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศอื่นๆ ทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มเกษตรกรรมมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง
“เห็นได้ชัดสินค้าข้าว มันสำปะหลังและยางพารา ไก่ อาหารทะเล ของไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง และคิดว่าโอกาสที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่ายังมีอยู่สูง ซึ่งค่าเงินบาททางธนาคารแห่งประเทศไทยมีการดูแลอยู่ แต่ขณะเดียวกันผู้ส่งออกจะต้องปรับตัวด้วย และยังเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยลบระยะสั้น แต่สิ่งที่กระทบมากคือเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังไม่รู้จะจบอย่างไร” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 นี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาทดแทน และพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร และอุตสาหกรรม ที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น โดยสนับสนุนการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เพื่อยกระดับสินค้าไทย แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์ไว้ว่า การส่งออกในปีนี้น่าจะเป็นบวกไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 แต่ในข่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบการส่งออกของไทย ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ขอติดตามสถานการณ์ภาพรวมการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกออกมาก่อนว่าจะเป็นอย่างไร และอาจจะเป็นบวกน้อยกว่าที่คาดไว้ ซึ่งตามประเมินตัวเลขการส่งออก หากเป็นบวกร้อยละ 8 ส่งออกต่อเดือนต้องได้ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากบวกร้อยละ 5 ส่งออกรายเดือนต้อง 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากบวกร้อยละ 3 ส่งออกรสยเดือนต้อง 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การทบทวนตัวเลขส่งออกในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะมีการประชุมร่วมกับภาคเอกชนที่จะประเมินทิศทางการส่งออกในช่วงไตรมาส 1 และทิศทางรวมถึงปัญหาต่างๆกันต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนการนำเข้าในช่วงเดือนมกราคม 2562 มูลค่า 23,026.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 เนื่องจากการนำเข้าสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยทางทหารเพื่อนำเข้ามาซ้อมรบในช่วงต้นปีของทุกปีทีมีมูลกว่าสูงถึง 4,832 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นตัวเลขที่สูงในช่วงซ้อมรบเมื่อผ่านไปแล้วตัวเลขนี้ก็หมดไป และนำเข้าอื่นๆส่งผลให้ตัวเลขดุลการค้าของไทยในช่วงเดือนมกราคม 62 ติดลบ 4,032 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากนำตัวเลขอาวุธ ยุทธปัจจัยซ้อมรบออกไปไทยยังถือว่ายังเกินดุลการค้าอยู่