ก.พาณิชย์เร่งแก้ปัญหาขาดแคลน “ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ”

ก.พาณิชย์เร่งแก้ปัญหาขาดแคลน “ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ”


กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ชี้ พบโตไม่ทันความต้องการของตลาด คาดปี 63 ผู้สูงอายุในประเทศไทยทะลุ 13 ล้านคน

กรมพัฒน์ – นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อย่างเต็มรูปแบบในอีก 1-2 ปีข้างหน้า คาดว่าปี 2563 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี ประมาณ 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก เช่น ไอซ์แลนด์ และฟินแลนด์ เป็นต้น จึงเป็นโอกาสดีของประเทศไทยเนื่องจากมีความพร้อมและมีความได้เปรียบหลายด้าน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และทักษะการจัดการบริการ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยการพยาบาล นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และนักกิจกรรมบำบัด

อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ คือ สถานบริการบางแห่งยังไม่ได้มาตรฐาน การดำเนินงานยังคงพบปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ เช่น ผู้ให้บริการไม่รับผิดชอบดูแลผู้สูงอายุให้เพียงพอ หรือในกรณีผู้สูงอายุเสียชีวิตที่สถานประกอบการควรต้องดำเนินการอย่างไร เนื่องจากยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุที่จะให้คำตอบเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายแก่ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว

ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เข้ามาดูแลเรื่องมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ โดยเน้นการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจให้มีมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ ประกอบด้วย การสร้างองค์ความรู้ และเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการ พัฒนาธุรกิจบริการสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพตามแนวทางของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และสร้างโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่มีศักยภาพกับตลาดผ่านแพลตฟอร์ม หรือ ช่องทางการตลาดของกลุ่ม Startup ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย แบ่งเป็น 5 รูปแบบ คือ บ้านพักคนชรา สถานบริการช่วยเหลือในการดำรงชีวิต สถานบริบาล สถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาล และสถานดูแลระยะสุดท้าย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย 800 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล 273 ราย คิดเป็นร้อยละ 34.12 ทุนจดทะเบียนรวม 1,534.30 ล้านบาท และบุคคลธรรมดา 527 ราย คิดเป็นร้อยละ 65.88