3 อดีตรัฐมนตรีตอบคำถาม ทำไมประเทศไทยยังก้าวข้ามความยากจนไม่ได้?

3 อดีตรัฐมนตรีตอบคำถาม ทำไมประเทศไทยยังก้าวข้ามความยากจนไม่ได้?

3 อดีตรัฐมนตรี มองความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยยังก้าวข้ามไม่ได้ หากชุมชนไม่มีความแข็งแรง และการกระจายอำนาจไปไม่ทั่วถึง ความเป็นเมืองและชนบทยังต่างกันมาก

 

 

ความยากจนเป็นปัญหาสะสมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำหลายมิติ ภาพที่เห็นชัดเจนคือการเจริญเติบโตที่กระจุกตัวอยู่แค่ในเมือง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แต่ในพื้นที่ชนบทกลับไม่มี คำถามจึงเกิดขึ้นว่า แล้วประเทศไทยจะก้าวข้ามความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร? 

ภายในงานเสวนา “15 ปีสัมมาชีพ สานพลังไทย สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่” 3 อดีตรัฐมนตรีได้กล่าวในงานถึงประเด็นความยากจนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมี ดร.อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ และนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 

 

เพราะมองข้ามพลังที่ซ่อนอยู่ในชุมชน

ดร.อุตตม สาวนายน กล่าวว่า ความยากจนในสังคมไทยเป็นปัญหาที่ฝังรากลึก และมักมาควบคู่กับความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในปัจจุบันความเหลื่อมล้ำกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้นแทนที่จะลดลง สาเหตุหนึ่งคือประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ เรามีพื้นฐานด้านเกษตรกรรมที่แข็งแกร่ง แต่ไม่สามารถยกระดับให้เกษตรกรรมสร้างมูลค่าสูงขึ้น หรือเชื่อมโยงกับทรัพยากรดีๆ ในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะมีสินค้าชุมชนและการท่องเที่ยวชุมชนที่ดี แต่ยังขาดการพัฒนาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงทำให้ความยากจนยังคงอยู่ การแก้ไขต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาชุมชนเป็นหลัก

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่เรากลับละเลยพลังสำคัญที่ซ่อนอยู่ในชุมชน ซึ่งไม่เคยถูกนำมาใช้ให้เกิดศักยภาพสูงสุด วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเหมือนหนังสือที่เปลี่ยนไปสู่บทใหม่ หากประเทศไทยยังคงเป็นเช่นนี้ ความยากจนจะไม่เพียงแค่ดำรงอยู่ แต่จะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นไปอีก

 

 

 

จีนก็เคยยากจนแต่วันนี้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจ

ดร.อุตตม กล่าวต่อว่า เมืองไทยมีทุนเพียบ อาหารการกินพร้อม เป็นประเทศที่ไม่ต้องนำเข้าอาหารถือว่ามีบุญมาก เรามีทรัพยากรคนไทยที่ไม่แพ้ชาติไหนเลย ท่องเที่ยวก็ดี เกษตรก็มี แต่ทำไมมีอย่างนี้แล้วความยากจนยิ่งหนักเข้าไปอีก

ขณะที่จีน เป็นประเทศที่มีความยากจนมาก ย้อนไปร้อยกว่าปี คนจีนอพยพมาไทยต้องส่งข้าวกลับไปจีน ยุคนั้นเขาไม่มีกิน แต่วันนี้คนละเรื่องเลย กลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนแพงขึ้น สะเทือนถึงประเทศไทยด้วย 

ที่ผ่านมาจีนเขาพยายามแก้ปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำ ท่านสี จิ้นผิง ประธานาธิบดี เขาประกาศยุทธศาสตร์การต่อสู้ความยากจน และแก้ไขความเหลื่อมล้ำ โดยเขาบอกว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ ต้องก้าวไปพร้อมกับการพัฒนาชุมชน แยกจากกันไม่ได้ เขาชัดเจนเรื่องนี้ และระดมกำลังจากราชการ ภาคเอกชน ลงไปชุมชนทั่วประเทศ แต่ละชุมชนเขาจะมีการศึกษาก่อนว่าจุดแข็งอยู่ที่ไหน ปัญหาอยู่ที่ไหน คนต้องการอะไร และเอาสรรพกำลังไปช่วยตรงนั้นเลย 

ปีที่แล้วประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศเลยว่า จีนเอาชนะความยากจนได้แล้ว เปอร์เซ็นความยากจนประเทศเขาลดลงมหาศาล หลังจากเดินหน้ายุทธศาสตร์นี้ เป็นตัวอย่างที่เขาทำได้ เขาเป็นประเทศอุตสาหกรรมเช่นกัน แต่พื้นที่ชุมชนก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าอุตสาหกรรม แต่ของไทยเราเน้นอุตสาหกรรม แต่เราไม่ได้เดินเข้าไปหาชุมชน วันนี้ค่อนข้างอันตราย ไทยอยู่ในจุดเปราะบางและสุ่มเสี่ยงมาก นับตั้งแต่โควิดมา ประเทศไทยเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในอาเซียน

ทั้งนี้ IMF กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ออกรายงานล่าสุดบอกว่าภายใน 5 ปี เศรษฐกิจไทยที่เคยเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย จะถูกแซงโดยเวียดนาม ฟิลิปินส์ มาเลเซีย และสุดท้ายอาจตกเป็นอันดับสิบของอาเซียนในที่สุด แปลว่าความยากจน เหลื่อมล้ำยากขึ้น และโอกาสของรุ่นลูกหลานไทยจะอยู่ที่ไหนในอนาคต เราพึ่งส่งออก พึ่งท่องเที่ยว เม็ดเงินจะไปที่อื่นไหม ทำอย่างไรจะทำให้เศรษฐกิจฐานรากแข็งแรงมากขึ้น 

 

 

 

ชุมชนยังไม่แข็งแรง

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า ชุมชนในประเทศไทยเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากระบบการปกครอง ส่งผลให้โอกาสของชุมชนลดน้อยลง เรายังไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อย่างเป็นระบบ แม้จะมีตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จ แต่กลับไม่มีการเชื่อมโยงหรือขยายผลเพื่อสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง เรายังเป็นสังคมที่ต่างคนต่างอยู่ ตัวอย่างเช่น โครงการโอทอป (หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) ซึ่งเป็นการรวมคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ยังไม่ใช่การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนโดยรวม

เมื่อชุมชนไม่แข็งแรงก็ยิ่งทำให้ไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย เช่น หากผมต้องแข่งขันการค้ากับคนรุ่นใหม่ ผมก็ไม่สามารถสู้ได้ เพราะโลกและเครื่องมือการทำงานของเขาเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และยิ่งเป็นชุมชนยิ่งแข่งขันยาก ตามไม่ทัน ประเทศไทยในปัจจุบันยังขาดความแข็งแกร่งในหลายด้าน และผมเชื่อว่าการพัฒนาชุมชนให้แข็งแรงเป็นหน้าที่สำคัญที่เราทุกคนต้องช่วยกันผลักดัน เพื่อให้ชุมชนสามารถก้าวทันโลกและสร้างโอกาสที่ดียิ่งขึ้น

 

 

 

การกระจายอำนาจคือหัวใจหลักลดความเหลื่อมล้ำ

นิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนคือรากฐานสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ และการกระจายอำนาจเป็นหัวใจหลักในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

“เมื่อ 30-40 ปีก่อน ชนบทกับเมืองมีความแตกต่างกันอย่างมาก เมืองมีทุกอย่างครบถ้วน ในขณะที่ชนบทขาดแคลนแทบทุกด้าน ถนนเป็นลูกรัง ฝุ่น ไฟฟ้าและน้ำประปาไม่มีเลย ในยุคนั้น สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบท เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำในชนบทชัดเจนมาก หากหมู่บ้านไหนมีถนนลาดยางหรือไฟฟ้าเข้าไปถึง ชาวบ้านจะเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ นี่สะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างชนบทและเมืองในสมัยนั้น”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป การกระจายอำนาจเริ่มส่งผลดี เราเห็นชนบทถูกยกระดับขึ้นเป็นเมืองขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนบทกับเมืองเริ่มลดลง แต่ในปัจจุบัน เรายังต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง และระบบสาธารณสุข

“ผมเชื่อว่าการลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนในครัวเรือน หากเราสามารถกระจายอำนาจและทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าได้ในที่สุด เราควรจะกระจายการเติบโตของเมือง ทำให้หลายจังหวัดเป็น ‘มหานคร’  ได้ พร้อม ๆ กับการกระจายอาชีพ ไม่ใช่ว่ากรุงเทพฯ คือศูนย์กลางของประเทศไทย แล้วคนยังรวมศูนย์การกระจายอำนาจไว้ที่กรุงเทพฯ อันนี้มันยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น แต่ถ้ากระจายมหานครออกไปให้ทั่วทุกสารทิศได้ นั่นคือการลดความเหลื่อมล้ำในมุมมองของผม”