Blue Marble ภาพถ่ายที่เปลี่ยนมุมมองของโลก จุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน

Blue Marble ภาพถ่ายที่เปลี่ยนมุมมองของโลก จุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภาพ Blue Marble ลูกแก้วน้ำเงิน สัญลักษณ์โลกงดงาม เปราะบาง กระตุ้นการเคลื่อนไหว ให้พัฒนาอย่างยั่งยืน เร่งสร้างจิตสำนึกในการดูแลบ้านเกิดของมวลมนุษยชาติ

เขียนโดย จุฑาทิพย์ สมสุข

 

 

ภาพถ่ายลูกแก้วสีน้ำเงิน (Blue Marble)  ซึ่งถ่ายโดยนักบินอวกาศจากภารกิจ Apollo 17 ในปี 1972 กลายเป็นภาพสัญลักษณ์ของโลกที่เต็มไปด้วยความงามและเปราะบาง ที่ถูกมองเห็นในฐานะ “บ้านร่วมของมนุษยชาติ” ซึ่งไม่เพียงสะท้อนความสามัคคีและความเชื่อมโยงของทุกชีวิตบนโลก แต่ยังจุดประกายการสนทนาเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก กระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลโลกใบนี้

กลายหนึ่งของสัญลักษณ์การผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวระดับโลก เช่น การรณรงค์เรื่องสภาพอากาศ และ ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่เปลี่ยนเศรษฐกิจโลกไปสู่เส้นทางของคาร์บอนต่ำ พร้อมกลไกที่กระตุ้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน

 

ภาพถ่าย Blue Marble จากยานอพอลโล 17 เมื่อปี พ.ศ. 2515

 

เรื่องราวของ The Blue Marble

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2515 นักบินอวกาศของภารกิจ อพอลโล 17 ซึ่งประกอบด้วย ยูจีน เซอร์แนน (Eugene Cernan), โรนัลด์ อีแวนส์ (Ronald Evans) และ แฮร์ริสัน ชมิตต์ (Harrison Schmitt) ได้เดินทางออกจากโลกสู่ดวงจันทร์ โดยขณะยานอวกาศอยู่ห่างจากโลกประมาณ 24,000 กิโลเมตร พวกเขาได้ถ่ายภาพโลกจากอวกาศที่เผยให้เห็นความงดงามของดาวเคราะห์ในรูปแบบที่มนุษยชาติไม่เคยเห็นมาก่อน ภาพที่เรียกว่า Blue Marble แสดงให้เห็นโลกทั้งใบอย่างชัดเจน โดยมีทวีปแอฟริกา ซีกโลกใต้ และกลุ่มเมฆขนาดใหญ่ปรากฏในรายละเอียดที่งดงามท่ามกลางความมืดมิดของอวกาศ

ภาพถ่ายนี้ทำให้เรามองเห็นโลกในมุมที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน เราได้ตระหนักว่าโลกที่เรารู้จักเต็มไปด้วยชีวิต ความทรงจำ และประวัติศาสตร์ ล้วนอยู่บนก้อนหินเล็ก ๆ ที่ลอยอยู่ในความมืดของอวกาศ ซึ่งเมื่อเทียบกับจักรวาลที่ไม่มีที่สิ้นสุด โลกของเราดูเหมือนจะไม่มีนัยสำคัญเลย

แต่ในความเล็กนั้นเองกลับมีความสำคัญยิ่งใหญ่ ภาพ The Blue Marble นี้ทำให้เราเห็นว่าโลกเป็นเหมือนลูกแก้วเล็ก ๆ ที่เปราะบาง แต่บรรจุชีวิตทุกชีวิตไว้ตามที่เรารู้จัก และทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเป็นอยู่ล้วนอยู่ในลูกบอลเล็กๆ ที่ล่องลอยอยู่ในความมืด

 

 

 

 

การปรับเปลี่ยนมุมมองทางสังคม

ความหมายของภาพนี้ได้ปรากฏในหลายบริบท ตั้งแต่โปสเตอร์โฆษณา ไปจนถึงงานศิลปะและภาพยนตร์ กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์โลกและสร้างแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ให้ผู้คนตระหนักว่า โลกของเราไม่ได้เป็นแค่แหล่งทรัพยากรที่ไม่มีวันหมด แต่เป็นบ้านหลังเดียวที่ต้องดูแล แนวคิดเรื่องความยั่งยืนเติบโตขึ้น พร้อมกับความตั้งใจที่จะแก้ปัญหา เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการอนุรักษ์ธรรมชาติ

 

 

ขบวนการเพื่ออนาคต ต่อสู้ด้วยความมุ่งมั่น

หนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญคือการเคลื่อนไหว การนัดหยุดเรียนเพื่อภูมิอากาศ หรือเดิมชื่อ วันศุกร์เพื่ออนาคต (Fridays for Future) ซึ่งเริ่มโดยเกรตา ทุนเบิร์ก ในปี 2018 เกรตา เด็กหญิงชาวสวีเดนวัยเพียง 16 ปี กลายเป็นเสียงของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อเธอนั่งลงหน้ารัฐสภาของประเทศของเธอเพื่อประท้วงการเพิกเฉยของนักการเมืองเมื่อเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม แม้การระบาดของโควิด-19 จะทำให้การประท้วงหยุดชะงัก แต่บรรดานักศึกษาก็ยังคงประท้วงเรื่องสภาพอากาศออนไลน์ต่อไปในขณะที่รอออกมาเดินขบวนบนท้องถนนอีกครั้ง

อีกหนึ่งการเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ กลุ่มกบฏต่อต้านการสูญพันธ์ (Extinction Rebellion) ซึ่งทางกลุ่มเรียกตัวเองว่า ขบวนการนักเคลื่อนไหวนานาชาติด้วยการอารยะขัดขืนที่ไม่ใช้ความรุนแรง เรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อต้านภาวะฉุกเฉินทางนิเวศวิทยาและสภาพภูมิอากาศ

 

 

 

 

ทศวรรษแห่งการดำเนินการ ถึงเวลาลงมือทำ

โลกกำลังเผชิญหน้ากับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศหรือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะเดียวกัน ข้อตกลงปารีส ซึ่งมีเป้าหมายจำกัดภาวะโลกร้อนให้ไม่เกิน 1.5°C หรือ 2°C เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ยังคงเผชิญความท้าทายอย่างมาก เพราะอุณหภูมิโลกอาจเพิ่มขึ้นถึง 2.5-2.9°C ภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากไม่มีการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างเร่งด่วน

ในช่วงปี 2023-2024 การประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินต่อไปในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสูงดำเนินการอย่างจริงจัง รวมถึงแรงกดดันต่อบริษัทขนาดใหญ่ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนให้เร็วยิ่งขึ้น และลูกแก้วสัน้ำเงิน (Blue Marble) ยังคงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง

 

 

บ้านหลังเล็กของเราท่ามกลางจักรวาล

ความจริงก็คือผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อรักษาโลกไว้ เพราะทุกชีวิตที่เรารู้จักล้วนดำรงอยู่บนก้อนหินสีฟ้าก้อนนี้ เราจึงจำเป็นต้องรักษาและดูแลบ้านของเราไว้ร่วมกัน หากเราไม่เริ่มต้นปกป้องโลกใบนี้ตั้งแต่วันนี้ สิ่งแวดล้อมและชีวิตที่เราคุ้นเคยอาจสูญสลายไปในที่สุด

ในท้ายที่สุด ความรับผิดชอบนี้เป็นของทุกคนที่ร่วมแบ่งปันบ้านใบเดียวกัน มันไม่ใช่เพียงภารกิจของผู้นำหรือองค์กรใหญ่ แต่เป็นความร่วมมือของพวกเราทุกคนที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อให้ความสีน้ำเงินที่เป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิต ยังคงอยู่สืบต่อไปให้คนรุ่นหลัง

 

แหล่งที่มา : wiki/The_Blue_Marble, The Nature Conservancy, activesustainability