วันดินโลก สานต่อศาสตร์พระราชา สู่วิถีเกษตรพอเพียง รักษ์ดิน รักษ์โลก

วันดินโลก สานต่อศาสตร์พระราชา สู่วิถีเกษตรพอเพียง รักษ์ดิน รักษ์โลก

น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ 5 ธันวาคม วันชาติ และ วันพ่อแห่งชาติ รวมถึง วันดินโลก ที่องค์การสหประชาชาติยกย่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็น นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม จากโครงการพัฒนาที่ดิน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

 

 

วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี นับเป็นวันสำคัญของประเทศไทยและระดับสากล เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งถูกยกย่องให้เป็น “วันชาติ” และ “วันพ่อแห่งชาติ” ของไทย นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังประกาศให้วันดังกล่าวเป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) 

เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำคัญของดินในฐานะทรัพยากรสำคัญต่อชีวิตมนุษย์และการพัฒนาที่ยั่งยืน พระองค์ทรงได้รับการยกย่องจาก International Union of Soil Sciences (IUSS) ให้เป็น “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) จากพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาที่ดินมากมาย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรและสร้างสมดุลทางสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

 

 

 

-วันชาติ วันพ่อแห่งชาติ  และ วันดินโลก

วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันสำคัญของประเทศไทย โดยถือเป็น วันชาติ และ วันพ่อแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพ่อแห่งแผ่นดิน พระองค์ท่านทรงอุทิศพระองค์ในการพัฒนาประเทศในหลายด้าน รวมถึงการเกษตรและการจัดการทรัพยากรดิน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงทางอาหารและการดำรงชีวิตของประชาชน

ในปี 2013 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ได้ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็น วันดินโลก (World Soil Day) เพื่อเฉลิมพระเกียรติและยกย่องพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในฐานะ “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) จากโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ดิน เช่น  เช่น โครงการหญ้าแฝก ที่ช่วยฟื้นฟูดินและรักษาหน้าดินจากการพังทลาย โครงการแกล้งดิน เพื่อการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว 

และการปรับปรุงพื้นที่การเกษตรในประเทศไทย แนวทางเหล่านี้สะท้อนถึงการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเน้นการใช้งานทรัพยากรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก

 


ดินโลกในปี 2024 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อดินอย่างรุนแรง จากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุรุนแรง ส่งผลให้ดินเสื่อมคุณภาพและกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร รายงานจากองค์การสหประชาชาติ (UNCCD) ระบุว่า 40% ของดินทั่วโลกกำลังเสื่อมโทรม ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตของประชากรกว่า 3,200 ล้านคน และพื้นที่ดินเสื่อมโทรมยังเพิ่มขึ้นกว่า 625 ล้านไร่ต่อปี

ส่งผลให้การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ การล่มสลายของระบบนิเวศทำให้ดินขาดสมดุลและการผลิตทางการเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยจาก FAO พบว่าการสะสมของโลหะหนักและสารเคมีกำจัดแมลงในดิน เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและคุณภาพของดินในระยะยาว

 

 

อีกทั้งดิน ตัวแปรสำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ภาคการเกษตร ป่าไม้ และการใช้ที่ดินมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 23% ของปริมาณทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ดินทั่วโลกยังมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 29% ทำให้การฟื้นฟูดินและการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ยั่งยืนกลายเป็นทางเลือกสำคัญ

  1. ความจำเป็นในการจัดการดินในระดับโลก
    ภาวะการขาดแคลนน้ำและทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญส่งผลให้ดินถูกใช้งานเกินความสามารถ การขยายตัวของเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรมทำให้ดินเสื่อมสภาพ การรณรงค์ระดับโลก เช่น วันดินโลก (World Soil Day) เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และผลักดันการอนุรักษ์ดินเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
  2. การฟื้นฟูดินและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
    การพัฒนาปุ๋ยชีวภาพและการปลูกพืชหมุนเวียนช่วยเพิ่มคุณภาพของดินและลดการใช้สารเคมี รายงานจาก IPCC ชี้ว่าการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

 

ในโอกาสนี้ ภาครัฐ ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ จึงร่วมจัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ เช่น การอบรมการปรับปรุงดิน การจัดนิทรรศการ “ดินดี วิถีพอเพียง” และการส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงความสำคัญของดิน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของทุกคน 

 

 

โดยมีแนวทางตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

  1. การใช้ทรัพยากรดินอย่างรู้คุณค่า

หลักเศรษฐกิจพอเพียงเน้นการพึ่งพาตนเองและการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม เช่น การปลูกพืชหมุนเวียนและการใช้ปุ๋ยธรรมชาติ เพื่อลดการพึ่งพาสารเคมี

       2.ฟื้นฟูดินด้วยวิถีเกษตรธรรมชาติ

เกษตรกรไทยจำนวนมากปรับตัวสู่การทำเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีที่ทำลายดิน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สมดุล

       3.พัฒนาชุมชนด้วยแนวคิดพอเพียง

หลัก “ปลูกพืชที่เหมาะกับดิน” และการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่เสื่อมโทรมให้กลับมาใช้งานได้ ถูกนำมาใช้จริงในโครงการพระราชดำริ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย

 

-กิจกรรม วันดินโลก และวันชาติไทย 2567 

โดยในปีนี้มีกิจกรรมมากมายที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันสำคัญนี้ รวมถึงส่งเสริมการอนุรักษ์ดินอย่างยั่งยืนตามหัวข้อหลัก “ใส่ใจมาตรฐาน ตรวจวัดจัดการ ดินดียั่งยืน”

  • นิทรรศการและกิจกรรมเสริมความรู้

จัดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 5-11 ธันวาคม 2567 เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องการจัดการดินอย่างยั่งยืน

  • ความร่วมมือกับ FAO

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ร่วมจัดงานเพื่อยกระดับความสำคัญของดินในระดับสากล

  • การประชุมนานาชาติ

ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากหลากหลายประเทศร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ

  • พิธีเฉลิมพระเกียรติและถวายพานพุ่ม

จัดทั่วประเทศ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ได้รับการยกย่องเป็น “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม”

  • กิจกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง

การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรดินอย่างรู้คุณค่าและยั่งยืน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานด้านการพัฒนาที่ดิน

 

กิจกรรมเหล่านี้สะท้อนถึงความสำคัญของวันที่ 5 ธันวาคม ไม่เพียงในฐานะวันแห่งการเฉลิมฉลองชาติไทย แต่ยังเน้นย้ำถึงการอนุรักษ์ดินที่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับประเทศและระดับโลก

 

แหล่งข้อมูล 

-รายงาน UNCCD ว่าด้วยการเสื่อมโทรมของดิน

-องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

-คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)

ที่มาภาพ : สราวุธ อิสรานุวรรธน์