COP29 สิ้นสุดลงแล้ว โดยประเทศกำลังพัฒนาวิพากษ์ว่าเงินช่วยเหลือด้านสภาพอากาศมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 10.2 ล้านล้านบาท) ต่อปี ซึ่งพวกเขาจะได้รับภายในปี 2035 (พ.ศ. 2578) นั้นเป็น “เงินจำนวนเพียงเล็กน้อย”
แปลและเรียบเรียงโดย: วันทนา อรรถสถาวร
เสียงของประเทศร่ำรวยจำนวนมากในการประชุมสภาพอากาศของสหประชาชาติ (COP29) รู้สึกประหลาดใจที่ประเทศกำลังพัฒนาไม่พอใจกับสิ่งที่ดูเผิน ๆ แล้วดูเหมือนเป็นข้อตกลงที่ใหญ่โต แต่ถือเป็นการปรับปรุงจากปัจจุบันที่มีเงินสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสภาพภูมิอากาศประเทศกำลังพัฒนาจากประเทศพัฒนาแล้ว วงเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ (3.4 ล้านล้านบาท) ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ประเทศโลกกำลังพัฒนาพยายามผลักดันให้ได้รับเงินสนับสนุนมากขึ้น ตามมาด้วยปัญหาอีกมากมายจากข้อเรียกร้องดังกล่าว
ข้อตกลงใหญ่โต แต่ความแตกแยกอันขมขื่นยังคงอยู่
โดยมีการร้องเรียนว่าเงินสนับสนุนดังกล่าวไม่เพียงพอและเป็นเพียงเงินช่วยเหลือแบบผสมผสานกับเงื่อนไขของเงินกู้ ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ก็ไม่พอใจอย่างยิ่งที่คนรวยรอจนถึงนาทีสุดท้ายถึงจะเปิดเผยเงินช่วยเหลือ
จันดนี ไรนา (Chandni Raina) ผู้แทนอินเดียกล่าวกับผู้แทนคนอื่น ๆ หลังจากที่มีข้อตกลงกันได้แล้วว่า ‘เป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก’
“เอกสารนี้เป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น ในความเห็นของเรา เอกสารนี้จะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาใหญ่หลวงที่เราทุกคนต้องเผชิญได้”
ในที่สุด กลุ่มประเทศโลกกำลังพัฒนาก็ถูกบังคับให้ยอมรับ โดยประเทศร่ำรวยหลายประเทศชี้ไปที่การมาถึงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในปีหน้า ซึ่งแน่นอนว่าเขาเป็นผู้ที่ไม่เชื่อมั่นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโต้แย้งว่าจะไม่ได้ข้อตกลงที่ดีกว่านี้ หากทรัมป์เข้ามา
แต่แพ็คเกจนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการมองการณ์ไกลที่ไม่เพียงพอจากมุมมองของโลกที่ร่ำรวย
มีการโต้เถียงกันว่าหากคุณต้องการรักษาโลกให้ปลอดภัยจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ประเทศที่ร่ำรวยกว่าจะต้องช่วยให้เศรษฐกิจเกิดใหม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากนั่นคือที่ที่การเติบโตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 75% เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
แผนระดับชาติฉบับใหม่มีกำหนดเผยแพร่ในฤดูใบไม้ผลิหน้า เพื่อสรุปแนวทางที่ประเทศต่าง ๆ จะจำกัดก๊าซที่ทำให้โลกร้อนในอีก 10 ปีข้างหน้า
การจ่ายเงินสดที่มากขึ้นใน COP29 จะต้องส่งผลดีต่อความพยายามเหล่านี้อย่างไม่ต้องสงสัย
ในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนและความสับสนทางภูมิรัฐศาสตร์ การรักษาความสามัคคีของประเทศต่าง ๆ ในเรื่องสภาพอากาศจึงควรเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่กลับกลายว่าการต่อสู้ครั้งใหญ่เกี่ยวกับเงินได้จุดชนวนให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างคนรวยกับคนจนเกิดขึ้นอีกครั้ง ด้วยความโกรธและความขมขื่นที่ไม่เคยเห็นมานานหลายปี
COP เองก็อยู่บนเส้นด้าย
การนำ 200 ประเทศไปสู่ข้อตกลงที่ซับซ้อนเกี่ยวกับการเงินเพื่อสภาพอากาศนั้นเป็นงานที่ยากเสมอมา แต่สำหรับอาเซอร์ไบจานที่เป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีประวัติการมีส่วนร่วมในกระบวนการ COP อย่างแท้จริง เรื่องนี้กลับกลายเป็นเรื่องเกินความสามารถของพวกเขา
ประธานาธิบดีของประเทศ อิลฮัม อาลีเยฟ ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักด้วยการกล่าวถึงน้ำมันและก๊าซว่าเป็น ‘ของขวัญจากพระเจ้า’การโจมตีอย่างตรงไปตรงมาของเขา โดยกล่าวหาว่า “เป็นสื่อข่าวปลอมของตะวันตก” องค์กรการกุศล และนักการเมือง “เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ” ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด
อาเซอร์ไบจานตามหลังอิยิปต์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะรัฐเผด็จการลำดับที่ 3 ติดต่อกันในการเป็นเจ้าภาพการประชุม COP ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับวิธีการเลือกประเทศเจ้าภาพ
อาเซอร์ไบจาน เช่นเดียวกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีเศรษฐกิจที่สร้างขึ้นจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซ ซึ่งดูเหมือนจะขัดแย้งกับกระบวนการที่มุ่งหมายที่จะช่วยให้โลกเปลี่ยนผ่านจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ
ในส่วนตัว ผู้เจรจาระดับสูงหลายคนได้พูดด้วยความหงุดหงิดกับสิ่งที่บางคนมองว่าเป็น COP29 เป็นการประชุมที่แย่ที่สุดในรอบ 10 ปี เมื่อการประชุมดำเนินไปได้ครึ่งทาง ผู้นำระดับสูงด้านสภาพอากาศหลายคนได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำระดับสูงว่า COP29 ปฏิบัติงานได้ไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และเรียกร้องให้มีการปฏิรูป
จับตาจีน ผู้นำสภาพอากาศแทนสหรัฐฯ
เนื่องจากบทบาทของสหรัฐฯ ในการเจรจาเรื่องสภาพอากาศในอนาคตยังไม่แน่นอนเพราะทรัมป์ ความสนใจจึงเปลี่ยนไปที่ใครบ้างที่อาจกลายมาเป็นผู้นำด้านสภาพอากาศตัวจริงในกรณีที่สหรัฐฯ ไม่อยู่ในช่วงสี่ปีข้างหน้า
ผู้สืบทอดโดยธรรมชาติคือประเทศจีน
ประเทศผู้ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ที่สุดในโลกแทบไม่ได้แสดงตัวเลยในการประชุม COP ของปีนี้ โดยแสดงเพียงแค่ให้รายละเอียดเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับจำนวนเงินสนับสนุนด้านสภาพอากาศที่มอบให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น
ประเทศจีนยังคงได้รับการกำหนดให้เป็นประเทศ ‘กำลังพัฒนา’ จากสหประชาชาติ ซึ่งหมายความว่าประเทศจีนไม่มีภาระผูกพันอย่างเป็นทางการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจน
อย่างไรก็ตาม จีนได้ตกลงตามสูตรในข้อตกลงทางการเงินที่จะให้เงินสนับสนุนของจีนได้รับการนับรวมในกองทุนรวมสำหรับประเทศที่เปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศบนพื้นฐานเงื่อนไขด้วยความสมัครใจ
โดยรวมแล้ว ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าคล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพมาก
หลี่ โชว จากสถาบันนโยบายสังคมเอเชีย กล่าวว่า จีนมีความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินให้กับประเทศทางใต้ของโลก
“สิ่งนี้น่าจะช่วยผลักดันให้ประเทศมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต”
‘การป้องกันสภาพอากาศจากทรัมป์’
แม้ว่าเขาจะไม่ได้อยู่ที่นั่น แต่การปรากฏตัวของทรัมป์ในการชนะการเลือกตั้งเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯก็ยังคงสามารถส่งผลกระทบถึงความรู้สึกได้ทั่วทั้ง COP29
องค์ประกอบร่วมกันอย่างหนึ่งในหมู่ผู้เจรจาที่เมืองบากู อาเซอร์ไบจาน ก็คือความจำเป็นในการทำให้แน่ใจว่ารัฐบาลทรัมป์ชุดที่สองจะไม่มาทำลายการเจรจาเรื่องสภาพอากาศที่รอบคอบมาหลายปีลง
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศร่ำรวยต้องการมุ่งมั่นในการระดมทุนภายในปี 2035 (พ.ศ.2578) พวกเขาเชื่อว่าการกำหนดวันที่ดังกล่าวจะทำให้สหรัฐฯ สามารถมีส่วนสนับสนุนได้อีกครั้งเมื่อทรัมป์ออกจากตำแหน่ง
ในทำนองเดียวกัน การขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มฐานผู้สนับสนุนก็ทำไปโดยคำนึงถึงทรัมป์เป็นปัจจัยด้วย
ดังนั้นการนำจีนเข้ามาร่วมโต๊ะเจรจา แม้จะในฐานะสมัครใจ ก็จะถูกใช้เพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนคุ้มค่าที่จะมีส่วนร่วมในฟอรัมระหว่างประเทศ เช่น COP อย่างน้อยก็สร้างแรงกดดันให้กับสหรัฐไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
ศาสตราจารย์ไมเคิล เจคอบส์ นักวิจัยอาวุโสประจำกลุ่มวิจัย โอดีไอ โกลบอลล์ (ODI Global) กล่าวว่า ไม่มีใครคิดว่าทรัมป์ในทำเนียบขาวจะสร้างความเสียหายต่อระบอบการปกครองสภาพอากาศพหุภาคีแต่อย่างใด
“แต่ข้อตกลงนี้เป็นเรื่องของความพยายามที่จะจำกัดความเสียหายให้ได้มากที่สุด”
นักรณรงค์เริ่มมีเสียงมากขึ้น
แนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งในการประชุม COP29 ก็คือ ท่าทีที่ก้าวร้าวมากขึ้นของภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ บางครั้งใช้โดยองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและนักรณรงค์จำนวนมาก
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อจอห์น โพเดสตา ผู้แทนด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ ถูกไล่ออกจากพื้นที่ประชุม โดยมีเสียงตะโกนว่า ‘น่าละอาย’ ดังก้องอยู่ในหูของเขา
ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากพึ่งพา NGO เหล่านี้ในการสนับสนุนการจัดการเหตุการณ์ที่ซับซ้อนเช่น COP
ในระหว่างการเจรจา มีผู้รณรงค์จำนวนมากผลักดันอย่างหนักให้ปฏิเสธข้อตกลงเกือบทั้งหมดโดยสิ้นเชิง
ในทำนองเดียวกัน ในการประชุมเต็มคณะครั้งสุดท้าย เมื่อประเทศต่าง ๆ ทั้งหมดยอมรับข้อความทางการเงิน ก็มีเสียงโห่ร้องอย่างกึกก้องเมื่อผู้พูดจากหลายประเทศออกมาพูดต่อต้านข้อตกลงดังกล่าวภายหลังการปาฐกถา
การเผชิญหน้าและการถกเถียงที่ตึงเครียดจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการประชุมว่าด้วยสภาพอากาศระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อทางการทูตหรือไม่?
เราคงต้องรอดู COP ครั้งต่อไป
ที่มา: https://www.bbc.com/news/articles/cp35rrvv2dpo