ในการประชุมเรื่องสภาพอากาศของสหประชาชาติ จะมีพื้นที่พาวิลเลียนอันกว้างขวางเพื่อให้แต่ละประเทศแต่ละองค์กรทั้งส่วนที่แสวงหากำไร และส่วนที่ไม่แสวงหากำไร มา ‘ปล่อยของ’ หรือส่งสารไปยังผู้เข้าร่วมประชุมได้มาสัมผัสหรือเรียนรู้ มีป้ายขนาดใหญ่ที่ดูสะดุดตาเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนนับพันที่เดินผ่านไปมา
แปลและเรียบเรียงโดย: วันทนา อรรถสถาวร
สำหรับปีนี้มีหนึ่งสิ่งที่ดึงดูดคนนับพันเข้าไปแวะชมครั้งแล้วครั้งเล่านั่นก็คือบูธของประเทศสิงคโปร์
หน้าเคาน์เตอร์จะมีกระป๋องเครื่องดื่มสีฟ้าอมเขียวและสีม่วงขนาดเล็กวางอยู่อย่างสะดุดตา มีผู้คนที่เข้าร่วมประชุมต่างแวะเวียนมาขอดื่ม ซึ่งทางเจ้าของก็ให้ดื่มฟรี ทุกคนรู้ดีว่านี่คือเบียร์ยี่ห้อ นิวบริว (NEWBrew) แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเบียร์นี้ทำจากน้ำเสียที่ผ่านการบำบัด
ที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นเมืองที่ขาดแคลนน้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การบริโภคน้ำส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน นโยบายระดับชาติมุ่งอนุรักษ์น้ำทุกหยด ปริมาณน้ำส่วนหนึ่งที่บริโภคภายในประเทศเกิดจากการบำบัดน้ำเสียให้กลับมาเป็นน้ำดี จึงเป็นเรื่องที่ไม่แปลกนักที่เบียร์ ‘นิวบริว’ ที่จะผลิตจากน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้ว
เบียร์รสชาติดี กลิ่นหอม หมักมาจากน้ำผ่านการบำบัด
แต่ที่น่าทึ่งคือนวัตกรรมการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดมาผ่านกระบวนการเพิ่มเติมเพื่อหมักเป็นเบียร์ ซึ่งรสชาติของเบียร์หอม อร่อยไม่แตกต่างจากยี่ห้ออื่น
เห็นได้จากอิกเนซ อูร์ชิล โลกูอาโก มบูอัมโบอา นักศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากคองโกที่เพิ่งจิบน้ำชามา แล้วมาดื่มเบียร์ที่แช่เย็นนี้ แล้วบอกว่า…ผมไม่รู้ ผมแปลกใจมาก… และเล่าต่อด้วยรอยยิ้มว่าเขายินดีที่จะแนะนำให้ผู้ผลิตให้ผลิตเบียร์ให้มากกว่านี้ สำหรับเขาวันนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่แวะเวียนมาดื่มเบียร์ที่เคาน์เตอร์นี้
เครื่องดื่มที่ผู้เข้าร่วมงานบางคนเรียกกันเล่นๆ ว่า “เบียร์น้ำเสีย” เป็นหนึ่งในตัวอย่างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมมากมายที่จัดแสดงในงานประชุมว่าด้วยสภาพอากาศประจำปีนี้ หรือ COP29 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน การใช้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้ว เป็นตัวอย่างของการจัดการน้ำเสียมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดอย่างหนึ่งของโลกที่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทวีความรุนแรงขึ้น
สิงคโปร์เป็นประเทศที่ขาดแคลนน้ำ
สิงคโปร์เป็นผู้นำด้านการจัดการน้ำและนวัตกรรม มาเป็นเวลาหลายปี เกาะที่มีประชากร 6 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งนี้ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากการนำเข้าน้ำจากมาเลเซียแล้ว เสาหลักอื่นๆ ของกลยุทธ์ระดับชาติของประเทศก็คือ การเก็บกักน้ำ การแยกเกลือออกจากน้ำ และการรีไซเคิล เจ้าหน้าที่ระบุว่าจำเป็นต้องเพิ่มแหล่งน้ำทั้งหมด เนื่องจากคาดว่าความต้องการน้ำจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปีพ.ศ. 2608
แม้ว่าการดื่มน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจะถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับหลายๆ คนในการประชุมด้านสภาพอากาศ แต่สำหรับชาวสิงคโปร์แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แคมเปญระดับชาติตั้งแต่การรณรงค์อนุรักษ์น้ำไปจนถึงการแสดงกระบวนการรีไซเคิลน้ำเสียนั้นมีมายาวนานหลายทศวรรษ ในปีพ.ศ. 2545 โก๊ะ จ๊ก ตง นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นถ่ายภาพขณะกำลังดื่มน้ำ ‘NEWater’ ซึ่งเป็นชื่อน้ำที่ผ่านการบำบัด หลังจากการแข่งขันเทนนิส อันเป็นการกระทำให้เป็นตัวอย่างและสร้างความมั่นใจว่าการใช้น้ำนี้เป็นเรื่องปกติ
ออง จื่อ ชิน (Ong Tze-Ch’in) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของคณะกรรมการสาธารณูปโภค (Public Utilities Board) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านน้ำแห่งชาติของสิงคโปร์ เล่าให้ฟังว่าเบียร์ นิวบริว ได้รับการพัฒนาโดยโรงเบียร์ในท้องถิ่นในปีพ.ศ. 2561 โดยมีแนวคิดเพื่อจัดแสดงน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วในงานสัปดาห์น้ำสากล (International Water Week) ของประเทศ ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ สองปี เบียร์ดังกล่าวได้รับการผลิตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565, 2566 และในปีนี้
อองเล่าว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการยอมรับในการบริโภคน้ำที่ผ่านการรีไซเคิล ซึ่งปกติเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้คนยอมรับ ซึ่งทางคณะกรรมการสาธารณูปโภคได้สร้างกิจกรรมหลายอย่างเพื่อขับเคลื่อนให้การรีไซเคิลน้ำเสียได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวสิงคโปร์
อองเล่าให้ฟังว่าเขาเป็นคนเลือกรสชาตินี้ ซึ่งเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ทำงานร่วมกับโรงเบียร์สำหรับเวอร์ชันของปีนี้ โดยเป็น ‘พิลส์เนอร์แบบสมัยใหม่’ เขากล่าวด้วยเสียงหัวเราะว่า เบียร์เป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนบุคคล
ปีเตอร์ รัมเมล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานโยบายโครงสร้างพื้นฐานของระบบเบนท์ลีย์(Bentley Systems) ซึ่งเป็นผู้สร้างซอฟต์แวร์วิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐาน ได้เดินไปที่เคาน์เตอร์และหยิบเบียร์มาดื่ม รัมเมลบอกกับผู้สังเกตการณ์ว่าเขาเป็นผู้เหมาะสมในการตัดสินเบียร์ เพราะว่าเขามาจากเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเทศกาลเบียร์ Oktoberfest
‘นิวบริว’ ราคาไม่แตกต่างจากเบียร์อื่น ๆ ในท้องตลาด
รัมเมลมองไปที่กระป๋องหลังจากดื่มเบียร์เข้าไปแล้วบอกว่า “มันสดชื่น เบาสบาย เย็น มีรสชาติดี”
วี-ทัค แทน กรรมการผู้จัดการของโรงเบียร์ท้องถิ่น บรีเวร์ก กรุ๊ฟ (The Brewerkz Group) เล่าให้ฟังว่าพวกเขาผลิตเบียร์นิวบริวได้ประมาณ 5,000 ลิตร หรือประมาณ 15,000 กระป๋อง เขาบอกว่าพวกเขาใช้กระบวนการเดียวกันกับเบียร์อื่น ๆ และมีราคาใกล้เคียงกัน คือประมาณ 7 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 170 บาท) ต่อกระป๋องเมื่อซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ต
วี-ทัค เชื่อว่าเบียร์ได้เปลี่ยนมุมมองของบางคนในสิงคโปร์เกี่ยวกับ NEWater
วี-ทัค เล่าว่าตอนแรก ๆ ผู้คนก็อาจจะคิดว่ามันรสชาติแปลก ๆ แต่เมื่อลิ้มลองไปความคิดก็เปลี่ยนไป คนส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกความแตกต่างได้
สารัช กุมาร จา (Saroj Kumar Jha) ผู้อำนวยการฝ่ายน้ำระดับโลกของกลุ่มธนาคารโลก ซึ่งเข้าร่วมในคณะกรรมาธิการจัดการน้ำที่ศาลาสิงคโปร์ บอกว่าจากปัญหาการขาดแคลนน้ำเพิ่มมากขึ้น จึงมีการใช้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดมากขึ้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เขาเดินทางไปยังกว่า 50 ประเทศ และกล่าวว่าผู้นำประเทศต่าง ๆ มักบอกเขาว่าไม่ควรใช้คำว่า ‘น้ำเสีย’ แต่ควรเรียกว่า ‘น้ำใช้แล้ว’ แทน
หลังจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทัศนคติแล้ว ผู้ร่วมวงสนทนาคนอื่นๆ ก็ได้เปิดงานนิวเบียร์และบอกว่า “ดีจริง ๆ ฉันดื่มครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่แล้วของปีนี้ ไม่ใช่วันนี้” พร้อมกับเสียงหัวเราะ
ที่มา: https://apnews.com/article/beer-wastewater-sewage-recycling-singapore-climate-cop29-5ed7c8e19cd931f0748bddf97a2c542d