ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำมากที่สุดในโลก ลอยกระทงลงแม่น้ำอาจเพิ่มมลพิษหนักขึ้น จากแนวโน้มขยะกระทงสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ ตื่นตัว รณรงค์ลอยออนไลน์ และเกิดกระแสยกเลิกกระทง แล้วตรงกลางของปัญหาเรื่องนี้จะแก้อย่างไร?
ประเทศไทยติดหนึ่งในสิบประเทศที่มีการปล่อยขยะพลาสติกลงแม่น้ำมากที่สุดในโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก สะสมอยู่ในแม่น้ำสำคัญๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลและกลายเป็นขยะในมหาสมุทร ซึ่งแต่ละปีในประเพณีสำคัญ ลอยกระทง ขยะจะเพิ่มขึ้นมากขึ้น และมีโอกาสหลุดรอดโดยไม่ถูกกำจัดสูง
กระทงที่กลายเป็นขยะหลังเทศกาลลอยกระทง กลายเป็นการสะท้อนปัญหาขยะในแหล่งน้ำจากการเฉลิมฉลองที่สำคัญในวัฒนธรรมไทย อย่างไรก็ตาม ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะกระทงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากจำนวนกระทงที่ทำจากวัสดุไม่ย่อยสลาย เช่น โฟมและพลาสติก สร้างมลภาวะและอันตรายต่อสัตว์น้ำ ปัจจุบัน มีการรณรงค์ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและการลอยกระทงในสถานที่ปิด เพื่อลดผลกระทบต่อแหล่งน้ำ แต่การแก้ไขปัญหาขยะกระทงยังคงเป็นความท้าทายสำหรับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
การรักษาสืบสานประเพณีไว้ เป็นคุณค่าอันงดงาม แต่ท่ามกลางมลพิษและขยะที่ล้นโลก เราจะ สามารถปรับตัว และช่วยเปลี่ยนให้คงไว้ซึ่ง ประเพณีและโลกให้ลูกหลานเราได้ชื่นชมต่อไป อย่างไร?
ลอย ลอยกระทง
การลอยกระทงเป็นประเพณีไทยที่สำคัญ โดยมีความหมายหลายประการ การลอยกระทงในวันเพ็ญเดือน 12 เป็นการขอบคุณและขอขมาต่อพระแม่คงคา ซึ่งเป็นเทพีของแม่น้ำ น้ำที่ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ดื่มกิน เกษตรกรรม และการประมง อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนความเชื่อในการลอยทุกข์โศกไปกับกระทง เพื่อเริ่มต้นสิ่งใหม่ที่ดีและสะอาด
กระทงในอดีตมักใช้วัสดุจากต้นกล้วยและใบกล้วย กลัดด้วยไม้ ลวดแหลม แม็กเย็บกระดาษ ต่อมาจึงมีการพัฒนาหาวัสดุที่ง่ายราคาถูกเช่นโฟม และขนมปัง ผู้คนจะตัดปลายผม เล็บและใส่เหรียญลงในกระทง อวยพรปัดเป่าทุกข์ ขอโชคลาภก่อนลอยออกไป แม่น้ำลำธาร จะเต็มไปด้วยแสงไฟจากธูปเทียน และดอกไม้ที่นำมาปักตกแต่งเพื่อความสวยงาม บนฟ้าก็เต็มไปด้วยแสงไฟจากโคมลอย
การลอยกระทงยังเป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและความร่วมมือในชุมชน ที่มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ และงานเฉลิมฉลองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จากอาหาร การประกวดกระทง และการแสดงตามท้องถิ่น เช่น ขับร้อง รำวง
สถิติขยะกระทง มากขึ้นทุกปี
รายงานข้อมูลการเก็บกระทงของกรุงเทพมหานคร ปี 2566 พบจำนวนกระทงสูงสุดที่ 639,828 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งเก็บได้ 572,602 ใบ คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 11.74% จากกระทงที่จัดเก็บได้
ส่วนในปี 2564 มี 403,235 ใบ ปี 2563 มี 492,537 ใบ และปี 2562 มี 502,024 ใบ
ทั้งนี้ กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายง่ายมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กระทงจากโฟมลดลง เช่น ในปีล่าสุด กระทงธรรมชาติมีสัดส่วนถึง 96.74% ส่วนกระทงโฟมลดลงเหลือ 3.26%
สถิติขยะกระทงในกรุงเทพมหานครแสดงให้เห็นว่า จำนวนกระทงที่ถูกจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นทุกปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงการเฉลิมฉลองเทศกาลลอยกระทงที่มีผู้เข้าร่วมมากขึ้น แต่มีแนวโน้มการปรับตัวเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในงานประเพณีนี้เช่นกัน
กระทงเพิ่มขยะ – มลพิษในแม่น้ำ
- การสะสมขยะในแหล่งน้ำ
กระทงที่ทำจากวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ เช่น โฟมและพลาสติก เมื่อถูกทิ้งลงในแหล่งน้ำจะกลายเป็นขยะที่ยากต่อการจัดการ กระทงเหล่านี้จะสะสมเป็นขยะที่ลอยอยู่ในแม่น้ำและอ่างเก็บน้ำ ทำให้เกิดการอุดตันในทางระบายน้ำและเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
- มลพิษต่อแหล่งน้ำ
กระทงที่มีการใช้สีหรือสารเคมีในวัสดุอาจปล่อยสารพิษลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้คุณภาพน้ำลดลงและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงทำให้สัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตในน้ำมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากสารเคมีเหล่านั้น
- อันตรายต่อสัตว์น้ำ
ขยะจากกระทงอาจทำให้สัตว์น้ำเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร ส่งผลให้พวกมันกินขยะเหล่านี้และเจ็บป่วยหรือตาย สัตว์น้ำบางชนิด เช่น ปลาและเต่า อาจสำลักขยะหรือมีเศษขยะติดอยู่ที่ร่างกาย ทำให้การเคลื่อนไหวหรือหายใจลำบาก รวมทั้งพยูนที่กำลังทยอยเสียชีวิตลงเรื่อย ๆ
- สิ้นเปลืองทรัพยากรในการจัดการขยะ
กระทงจำนวนมากที่สะสมในแหล่งน้ำต้องใช้กำลังและงบประมาณในการจัดการและเก็บขยะ ซึ่งเพิ่มภาระให้แก่เทศบาลและหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้ ยังต้องมีการจัดการขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ทำให้สูญเสียทรัพยากรในกระบวนการจัดการขยะอย่างสิ้นเปลือง
- ผลกระทบต่อทัศนียภาพและการท่องเที่ยว
การสะสมขยะกระทงตามแหล่งน้ำสำคัญ ๆ เช่น แม่น้ำและทะเลสาบ ทำให้ทัศนียภาพเสื่อมโทรม ส่งผลให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ เพราะนักท่องเที่ยวอาจมองเห็นแม่น้ำที่เต็มไปด้วยขยะซึ่งส่งผลให้ภาพลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวลดลง
รักแม่น้ำให้ถูกวิธี
การเฉลิมฉลองวันลอยกระทงแบบมีความรับผิดชอบเริ่มจากการตระหนักถึงขยะที่อาจทิ้งไว้เบื้องหลัง การลดขยะในช่วงลอยกระทงทำได้ง่ายๆ ด้วยการเลือกใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง หยวกกล้วย หรือขนมปัง ซึ่งสามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติหรือเป็นอาหารให้สัตว์น้ำ เลี่ยงการใช้กระทงโฟมหรือพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย ซึ่งสร้างภาระให้แหล่งน้ำและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ การร่วมกิจกรรมลอยกระทงในสถานที่ที่จัดเตรียมจุดลอยกระทง เตรียมกระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ‘น้องวันเพ็ญ’ กระทงใช้ซ้ำ ผลิตจากขยะพลาสติก ที่เก็บขึ้นมาจากคลองลาดพร้าว โดยมูลนิธิ TerraCycle Thai กระทงใช้ซ้ำ ทำจากขยะพลาสติก ที่ลอยในบ่อระบบปิด ทำให้ผู้จัดงานสามารถเก็บกลับขึ้นมาใช้ซ้ำได้ทุกปี หรือมีการจัดการขยะเป็นพิเศษ เช่น สวนสาธารณะหรือวัดในท้องถิ่น ก็จะช่วยลดการทิ้งขยะลงแม่น้ำโดยตรง
รณรงค์ในทุกภาคส่วน
ในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ เกิดกระแส #ยกเลิกลอยกระทง บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เกิดเสียงเป็นสองฝั่งทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
ทางหน่วยงานต่างๆ จึงหาหนทางแก้ปัญหา รณรงค์ให้ประชาชนหันมาลอยกระทงร่วมกันแบบกลุ่ม เช่น 1 กระทง ต่อ 1 ครอบครัว, คู่รัก, กลุ่มเพื่อน เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นหลังคืนลอยกระทง
มีการประชาสัมพันธ์ ไม่ลอยกระทงในแม่น้ำ และ ลอยกระทงดิจิตอล #อยู่ไหนก็ลอยได้ ซึ่งในปีนี้ เป็นครั้งแรก ที่กทม. เปิดตัว เว็บไซต์ลอยกระทงดิจิทัล เลือกลอยได้ถึง 34 แห่ง อยู่ที่ไหนบนโลกก็ร่วมจอยได้ ผ่านเว็บไซต์ Greener Bangkok (https://greener.bangkok.go.th) ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ตั้งแต่เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป
อีกทั้งมีการก่อบ่อน้ำขนาดเล็กบนบก ตามสถานที่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำ อาทิ เทศบาลพัทยา เขต บางแสน วัดวัดอรุณราชวราราม และไอคอนสยามที่อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้ประชาชนลอยกระทงแบบปิด จัดเก็บง่าย และไม่ก่อให้เกิดขยะไหลลงสู่ทะเล
โลกอยู่ได้ คนอยู่ได้ ประเพณีอยู่ได้
การลอยกระทง ได้กลายเป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขยะจากกระทงจำนวนมหาศาลถูกทิ้งลงสู่แม่น้ำลำคลองทุกปี การแก้ไขปัญหานี้จึงมีความสำคัญ ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรและรักษาความยั่งยืนของเทศกาลนี้ให้สอดคล้องกับวิถีการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ
เพื่อให้กระทงไม่สร้างปัญหาขยะสะสมในแหล่งน้ำ การลอยกระทงแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้เราเฉลิมฉลองประเพณีอันงดงามนี้ได้อย่างยั่งยืน โดยที่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงอยู่ให้ลูกหลานรุ่นถัดไปได้ชื่นชม
เมื่อโลกอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมก็มีให้มนุษย์พึ่งพิงอาศัยต่อไป คนก็อยู่รอดก่อนสายไป สุดท้ายประเพณีที่สวยงามก็จะยังคงอยู่ โดยการมีจิตสำนึก ให้ทั้งสามส่วนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างดีที่สุด ก่อนถึงขั้นต้อง ‘ยกเลิก’ ประเพณีลอยกระทงที่อยู่มานานกว่า 700 ปี ทิ้งตามขยะเหล่านี้ไป
ที่มาภาพ : Trash Mission Thai Mueang, Pasquale Vassallo
ที่มาข้อมูล : สำนักสิ่งแวดล้อม