เปิดห้องเรียน TCP Spirit คณะเศษสร้าง ปี 3 ณ บุรีรัมย์ “เฮียนธรรมชาติหมุนเวียน เบิ่งนกกระเรียนฟื้นคืน” ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เรียนรู้วัฏจักรชีวภาพ รากฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียน
โลกกำลังอยู่ในจุดเสี่ยงของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss) ซึ่งหมายถึงการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนยีน สายพันธุ์ สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด หรือระบบนิเวศ
โดยสาเหตุมาจากการใช้ประโยชน์ ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดิน ฯลฯ ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นโจทย์ที่ห้องเรียน TCP Spirit หยิบยกขึ้นมาให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้ ในการปกป้อง และฟื้นฟูธรรมชาติ พร้อมกับเรียนรู้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
สำหรับ TCP Spirit คือโครงการอาสาสมัครแนวใหม่ ที่มุ่งรวมพลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนชุมชนและสังคมสู่ความยั่งยืน โดยต่อยอด และขยายความร่วมมือมาจาก “กระทิงแดง สปิริต” โดยกลุ่มธุรกิจ TCP ซึ่งปี 2567 เป็นปีที่ 3 ของการเปิดห้องเรียนรู้ธรรมชาติผ่านคณะเศษสร้าง “เฮียนธรรมชาติหมุนเวียน เบิ่งนกกระเรียนฟื้นคืน” ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อยอดองค์ความรู้ และสานต่อบทเรียนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเข้มข้นให้กับอาสาคนรุ่นใหม่ ได้สัมผัสวัฏจักรทางชีวภาพ (Biological Cycle) โดยมีวิชาในหลักสูตร ได้แก่ วิชาวัฏจักรน้ำ วัฏจักรชีวิต วิชาเส้นทางไหมสู่ใยเศรษฐกิจหมุนเวียน และวิชาเกษตรอินทรีย์วิถีวงกลม เป็นต้น
สำหรับห้องเรียนจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการน้ำในชุมชนสู่การเป็นชุมชนต้นแบบที่อยู่กับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล มีศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย ซึ่งแต่เดิมนกกระเรียนพันธุ์ไทยได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะการขยายตัวของเมืองและการใช้สารเคมีในเกษตรกรรม รวมถึงการล่า
แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีนกกระเรียนในธรรมชาติอีกครั้ง จากความร่วมมือของหลายๆ ภาคส่วน ทำให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่ที่ได้รับให้มีการปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีอาหารมั่นคง และมีเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัย
หลายพื้นที่บุรีรัมย์มีการทำเกษตรอินทรีย์ หนึ่งในนั้นคือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ และกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวบ้านสวายสอ หมู่ 7 บ้านสวายสอ ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอีกหนึ่งห้องเรียนของ TCP Spirit กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ประสบความสำเร็จ ในการทำนาข้าวอินทรีย์ มีการแปรรูปข้าวมาเป็นอาหารเสริม ทั้งยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากข้าวหอมมะลิภายใต้สัญลักษณ์ “ข้าวสารัช” หรือ “SARUS RICE” นับเป็นอีกชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพในการผลิตข้าวคุณภาพ ตามมาตรฐานข้าวอินทรีย์เป็นที่ยอมรับในตลาดอย่างกว้างขวาง
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีแหล่งเรียนรู้เส้นทางไหมที่ชุมชนบ้านหัวสะพาน ที่อาสา TCP Spirit ได้ไปสัมผัส และทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศที่มีการหมุนเวียน และควรได้รับการฟื้นฟู (Regenerate) เพื่อสร้างสมดุลในโลกที่กำลังวิกฤต
ห้องเรียนธรรมชาติ คณะเศษสร้างปี 3 ถอดรหัสเศรษฐกิจหมุนเวียน
สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า TCP spirit มีความตั้งใจพาเด็กรุ่นใหม่ที่เขามีแนวความคิดสนใจเรื่องความยั่งยืน และเรื่องธรรมชาติ และมีความสามารถที่จะนำเรื่องราวเหล่านี้ไปถ่ายทอดในบริบทต่าง ๆ ได้ เป็นการสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ โดยที่ปีนี้ได้พาเหล่าอาสาลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เรียนรู้ ถอดรหัสระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติฟื้นฟูธรรมชาติ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด
“ประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพอาจดูเหมือนห่างไกลจากธุรกิจของ TCP แต่สุดท้ายมันก็คือเรื่องเดียวกันเพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับโลกของเรา ซึ่งนับวันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพก็จะเป็นปัญหาขึ้นเรื่อย ๆ และที่บุรีรัมย์ก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่มีความน่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนกกระเรียนที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่กลับมาได้ และเชื่อมโยงกับเรื่องเกษตรอินทรีย์ของชุมชน ซึ่งแม้แต่ตัวผมก็ไม่เคยรู้มาก่อน”
โดยที่ไฮไลต์ห้องเรียนธรรมชาติของคณะเศษสร้าง จะมีตั้งแต่พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่แห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาสาได้สำรวจและเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บและช่วยหมุนเวียนน้ำ ที่ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง วิกฤตขาดแคลนน้ำ และสร้างความมั่นคงทางน้ำให้ชุมชน และที่แห่งนี้ยังแสดงถึงความสมดุลของระบบนิเวศ เห็นได้จากการกลับคืนของนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่สูญหายไปหลายสิบปี
นกกระเรียนคืนถิ่น หลังสูญพันธุ์ไปแล้ว 50 ปี อาสาได้เห็นด้วยตาตัวเองจากพื้นที่โครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ ที่ได้ความร่วมมือของชุมชนช่วยปกป้องฟื้นฟู และสร้างความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ให้นกกระเรียนดำรงชีวิตอยู่ได้ พร้อมลงมือปลูกหญ้าแห้วซึ่งเป็นแหล่งอาหารของนกกระเรียน เพื่อช่วยส่งเสริมการหมุนเวียนในระบบนิเวศ
เกษตรอินทรีย์ ดีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิต และลดคาร์บอนจากการใช้เครื่องจักรและสารเคมี โดยอาสาได้เรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งตีข้าว ฝัดข้าว และเพาะต้นกล้าด้วยตัวเอง
รวมถึงการทอผ้าไหม ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เปิดประสบการณ์การทอผ้าไหมกับชุมชนต้นแบบบ้านหัวสะพาน ที่ทอผ้าโดยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยจากขี้วัวและฟางเพื่อคงสภาพดิน ช่วยให้หนอนไหมกินใบหม่อนที่สามารถปลูกซ้ำได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียที่ได้ในกระบวนการผลิต และแปรรูปรังไหมและหนอนไหม
3 ปีคณะเศษสร้าง TCP Spirit
เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
สราวุฒิ กล่าวต่อว่า TCP Spirit นับเป็นความพยายามเล็ก ๆ ที่เรามุ่งจะทำต่อไปเรื่อย ๆ ผมก็พยายามที่จะเน้นคุณภาพผู้เข้าร่วมมากกว่าปริมาณ แต่ละปีก็จะราว ๆ 50 คน ถ้าคนเยอะไปบางพื้นที่ก็ไม่เหมาะรองรับ แต่คนเข้ามาสมัครแต่ละปีเยอะมาก เราก็พยายามจะคัดกรอง หาคนที่เขาสามารถจะนำไปเชื่อมต่อจากนั้นได้ ก็จะดูเรื่องประสบการณ์ มุมมองความคิดต่าง ๆ ฯลฯ เพื่อจะดูว่าเขาเข้ามาแล้วจะเอาไปต่อยอดอะไรได้หรือไม่
“ตลอดระยะเวลา 3 ปี คณะเศษสร้างได้จุดประกายคนรุ่นใหม่ให้เรียนรู้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเชื่อมโยงความรู้สู่การลงมือทำ สำหรับผม มองว่าทุกครั้งที่เราเปิดห้องเรียน คนที่เข้าร่วมต้องทำธีสิสส่งตอนจบ เราก็พยายามดูว่าสิ่งที่ได้มาเป็นอย่างไร มีอะไรที่สามารถต่อยอดได้ ทุกครั้งก็พยายามดูฟีทแบค แต่การวัดผลจริงจังว่าน้อง ๆ ที่เข้ามา เอาไปเผยแพร่มากน้อยแค่ไหน เราไม่ได้ทำตรงนั้น ก็เป็นการทำงานที่เราค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ พัฒนากันไปเรื่อย ๆ เพราะเชื่อมั่นว่าน้อง ๆ แต่ละคนที่เข้ามา งาน หรืออาชีพที่เขาทำ ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่เขาเข้ามา เขาได้ความรู้ ได้คอนเนกชั่น สร้างเครือข่ายกัน อนาคตอาจได้ลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยกัน”
“ผมมองว่าถ้าสำเร็จ คงอ้างไม่ได้หรอกว่าเป็นฝีมือของบริษัทเรา แต่เราเป็นส่วนนึงที่พยายามช่วยให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นในสังคมมากกว่า”
ด้าน ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ และครูใหญ่คณะเศษสร้าง กล่าวว่า ปีนี้เหล่าอาสาได้เรียนรู้วัฏจักรชีวภาพที่ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำ ถิ่นอาศัยของสัตว์นานาชนิด และนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ครั้งหนึ่งเคยสูญพันธุ์ และปัจจุบันสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการฟื้นฟูระบบนิเวศ จัดการน้ำ และสร้างแหล่งอาหาร ด้วยความร่วมมือกันของนักอนุรักษ์ และคนในชุมชนที่เข้าใจการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
โดยอาสาได้เข้าไปสัมผัสและลงมือทำด้วยตัวเอง ทั้งการทำเกษตรอินทรีย์ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบยั่งยืน และการทอผ้าไหมที่ไม่ทิ้งของเสีย เพื่อให้เข้าใจวิธีการสร้างการหมุนเวียน การซ่อมแซม และฟื้นฟูทรัพยากร เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาสมดุลและความยั่งยืนของโลก
ผลักดันเกษตรอินทรีย์ สู่พื้นที่อาศัยนกกระเรียน
ดร.เพชร กล่าวต่อว่า หลักสูตรเน้นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะตอนนี้โลกกำลังประสบปัญหาดินเสื่อม สภาพดินเสื่อมโทรม เกี่ยวข้องกับการหมุนเวียนแร่ธาตุ สารอาหาร ต่าง ๆ ที่อยู่ในดินและธรรมชาติ เกิดผลกระทบไม่ว่าจะเป็นการกักเก็บคาร์บอนฯ การอุ้มน้ำ ซึ้งจะเห็นว่าภัยพิบัติน้ำหลากมาเร็วมาก ถ้าระบบนิเวศสมบูรณ์ ดินจะมีส่วนช่วยชะลอน้ำหลากได้มาก พอมาดูพื้นที่ บุรีรัมย์ มีแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม (Nature based solutions) ระบบน้ำ ระบบดิน ทำเกษตรอินทรีย์ กลายเป็นความอุดมสมบูรณ์ที่ทำให้นกกะเรียนอยู่อาศัย การทำเกษตรอินทรัย์ ซึ่งเหล่านี้ในกระแสโลกถือว่ามาแรงมาก
พื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์กลายเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของนกกระเรียน โดยพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนจะอยู่บริเวณบ้านสวายสอ ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นการทำการเกษตรด้วยกรรมวิธีทางธรรมชาติ โดยที่พื้นที่ที่ทำเกษตรนั้น ต้องไม่มีสารพิษ หรือสารเคมีตกค้างและหลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อความสมบูรณ์ทางชีวภาพในระบบนิเวศน์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามสมดุลของธรรมชาติให้มากที่สุด โดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ หรือสิ่งที่ได้มาจากการตัดต่อพันธุกรรม และมุ่งเน้นการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบในการผลิตภายใต้มาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผลผลิตสูง
สัดส่วนทำนาอินทรีย์ในไทยยังน้อยมาก
ดร.เพชร กล่าวต่อว่า การทำเกษตรอินทรีย์ ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมช่วยฟื้นฟูจากความเสียหายที่มาจากสารเคมีได้ แต่ปัญหาตอนนี้คนทำอินทรีย์น้อยมาก เพราะไม่ได้มีเป้าหมายที่ชัดเจน อย่างภูฏาน เขาสุดโต่งไปเลย (Extreme) ว่าทั้งประเทศเขาจะผลิตแบบอินทรีย์หมด ภายในปีไหน ผมคิดว่าเราต้องมีเป้าหมายแบบนั้นเราถึงจะขับเคลื่อนได้ เหมือน BCG เป็น กรอบที่ดีมาก แต่ถ้าเราไม่มีการตั้งเป้า หรือมีไทม์ไลน์ มันก็จะไม่เกิดขึ้น
รวมถึงต้นทุน ถ้าเกษตรกรจะเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ ก็ต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่าน ไทยอาจจะต้องมีแผนให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงมีการสนับสนุนต่าง ๆ ผมมองว่าไทยเรามีต้นทุนธรรมชาติได้เปรียบมาก เป็นบทพิสูจน์ว่า ถ้าชุมชนได้รับการสนับสนุน มีองค์กรเข้ามาหนุนความรู้ เทคนิค เพิ่มศักยภาพ ทำได้แน่นนอน และจะสามารถฟื้นฟูธรรมชาติกลับคืนมาได้ ซึ่งคณะเศษสร้าง TCP ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างว่า การฟื้นธรรมชาติกลับมาได้ เป็นไปได้จริง นี่คือจุดแข็งของไทย เราไม่เหมือนประเทศบางประเทศที่ไม่มีอะไรเลย ต้องไปสร้างจุดขาย แต่ของไทย แค่ไม่ทำลายก็ฟื้นกลับมาแล้ว นี่คือจุดแข็งแรก
อีกจุดแข็งคือชุมชนหลายที่ มีความสามารถในการเรียนรู้ มีศักยภาพ ถ้ามีองค์กรเอาความรู้เข้ามาเสริมเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงผมคิดว่าชุมชนทำได้เร็ว ไปได้เร็ว
“ประเทศเรา นโยบายหลายอย่างดี แต่ขาดการปฏิบัติเอาไปใช้ได้จริง ขาดเป้าหมาย กำหนดทิศทางและผู้รับผิดชอบดูแลที่ชัดเจน อย่างนโยบายเศรษฐหมุนเวียน ที่กำลังขับเคลื่อน หรือ EPR (Extended Producer Responsibility) คือหลักการในการขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการนำกลับ ซึ่งภาคเอกชนก็ต้องร่วมลงทุนด้วย ไทยก็ยังไม่มีกฏหมายเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ก็ต้องเอากลไกเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้ด้วย จะมาหวังสร้างจิตสำนึกอย่างเดียวอาจสำเร็จได้ยาก”
อาสา TCP Spirit หลากหลายอาชีพ
ธีรพล ปานคง รุ่นพี่ TCP Spirit ปี 2 กล่าวว่า เป็นพนักงานออฟฟิศคนนึงที่ดูแลสิ่งแวดล้อมในองค์กร ดูในส่วนของโรงงาน ดูดินน้ำอากาศ ระบบน้ำเสียต่าง ๆ ซึ่งแม้เราจะพอรู้หลักการจากการทำงาน แต่การมาก็ช่วยต่อเติมความรู้ให้กับเรา เพื่อนำไปใช้จริงในองค์กรของเราได้ ซึ่งปีที่ผ่านมา เป็นการเรียนหลักสูตรเรื่องการจัดการขยะหลากหลายประเภท ตั้งแต่พลาสติก ขยะอินทรีย์ ขยะติดเชื้อ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งเป็นการจัดการขยะเหล่านี้ เพื่อให้ไปสู่หลุมฝังกลบน้อยที่สุด ความประทับใจจากปีก่อนคือ ด้วยความที่เป็นพนักงานออฟฟิศที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมในโรงงานโดยตรง มองว่านำไปใช้ได้จริง แต่มาปีนี้ก็มาเสริมความรู้เพื่อหวังนำไปดูว่าสามารถต่อยอดอะไรได้บ้าง
ด้าน ศิริมงคล คชภักดี ตัวแทน TCP Spirit ปี 3 กล่าวว่า ตนเองเป็นพนักงานในบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง และอีกพาร์ทนึงทำงานอาสาสมัครมาตั้งแต่อายุ 15 ปี จนตอนนี้อายุ 30 ปีแล้ว โดยที่งานอาสาสมัครที่ทำจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเพราะ
ตอนที่อยู่ ม.3 ได้เข้าไปท่องเว็บ Dek D ที่มีนักศึกษาเข้ามาโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับการออกค่ายต่าง ๆ ผมได้สมัครเข้าค่ายๆ หนึ่ง และได้ไปอยู่กับชาวบ้าน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ไม่ต้องตื่นเช้าขึ้นรถไปทำงาน แต่เดินเข้าสวนทำนาทำไร่ ส่วนลูกหลานก็เรียนใกล้บ้าน จากนั้นก็สนใจและทำค่ายร่วมกับเพื่อนๆ เรื่อยมา และได้ร่วมค่าย TCP Spirit ครั้งนี้ เพราะทำให้เปลี่ยนความเชื่อบางอย่างเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ตอนสมัครเข้ามา มีคำถามหนึ่งที่ผมต้องตอบ เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ สิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันยากในการทำเรื่องนี้คือ พอแปลงวัสดุใช้แล้วออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ทำไมราคาไม่สามารถเข้าถึงง่าย เพราะราคาจับตลาดบนเป็นหลัก ทำให้ผมคิดว่าถ้าเรามีกลุ่ม มีจิ๊กซอว์ ต่อยอดได้ ต่อเติมกัน ทำให้สิ่งที่คิดว่ายาก ทำได้จริงได้
“อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้ คือเรื่องผู้คน เข้ามาเป็นส่วนประกอบของค่าย ผมแปลกใจที่ทุกคนมาจากหลากหลายวิชาชีพหมดเลย ไม่ใช่คนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม หรืออาสาสมัครองค์กรต่างๆ แต่กลายเป็นว่า เป็นครู หมอพยาบาล เป็นเซลล์ ฯลฯ ผมมองว่ามันคือการรวมกลุ่มที่มาเติมเต็มกันได้ดีมาก อนาคตสมมุติ TCP มีโปรเจกต์อื่นๆ หรือว่าเราสามารถรวมกลุ่มกันเอง มาสร้างประโยชน์บางอย่าง ไม่ใช่ได้แค่พี่ แค่น้อง แต่เป็นการดึงคอนเนกชั่น ดึงความรู้ต่าง ๆ มารวมกันได้แน่นอน”
เช่นเดียวกับ เปรมลัดดา ผงกุลา อาสา TCP Spirit ปี 3 กล่าวว่า ตนเองเป็นคุณครูโรงเรียนมัธยมขนาดกลางแห่งหนึ่งในอำเภอเล็กๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี มีความสนใจเพราะเป็นครูชีววิทยา และมีความชอบส่วนตัวมาตั้งแต่สมัยเรียนที่ออกค่ายบ่อยมาก โดยเฉพาะออกค่ายอาสาโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก การออกค่ายทำให้เราได้เห็นธรรมชาติที่อยู่ห่างไกลจากเมือง
สำหรับห้องเรียนครั้งนี้ พบว่ามีคุณครูหลายคนเข้าร่วมเยอะมาก ไม่คิดว่าจะเจอเพื่อนร่วมวิชาชีพ เพราะเข้าใจว่าระบบราชการอาจทำให้ครูหมดแรงไปแล้ว แต่ทุกคนกลับยังมีไฟลุกขึ้นมา และมีความเชื่อ หลังจากจบค่ายก็จะเอาความรู้ไปสอนเด็ก ๆ ต่อ โดยเฉพาะในโรงเรียนมีโครงการที่จะนำเสนอผู้อำนวยการโรงเรียนด้วยว่าจะทำอะไรบ้าง เช่น ตนเองอยู่ฝ่ายโภชนาการอาหารเด็ก สิ่งหนึ่งที่พบเห็นในโรงเรียนคือขยะใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทางโรงเรียนแก้ปัญหาด้วยการฝังกลบ หรือไม่ก็เผา ซึ่งทำให้เกิดมลพิษในโรงเรียนและชุมชนรอบ ๆ ก็เลยอยากทำโครงการจัดการขยะเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งโครงการก็จะเป็นการแยกขยะก่อนเบื้องต้น ชวนนักเรียนทำ แล้วค่อยดูว่าต่อยอดอะไรได้บ้าง ซึ่งห้องเรียนธรรมชาติครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชนจริงๆ สิ่งที่แต่ละชุมชนทำไม่ใช่โมเดลที่คนเมืองมาบอกคนในชุมชนทำ แต่เขายืนได้ด้วยนตนเอง ตอกย้ำความคิดที่เรามองว่าเป็นไปได้หรอ แต่ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้ และโครงการที่ตนเองคิดว่าจะทำนั้นก็ต้องทำได้แน่นอน