ถอดรหัส One Planet. One Health แนวคิด ดานอน ประเทศไทย ผู้ผลิตนมและอาหารแปรรูป แบรนด์ ‘ไฮคิว’ และ ‘ดูเม็กซ์’ ที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 65 ปี องค์กรที่มองสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเชื่อมโยงกัน
แม้ว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance หรือ ESG) จะเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการดำเนินธุรกิจขององค์กรต่าง ๆ โดยเห็นความพยายามขององค์กรต่างๆในการดำเนินการในเรื่องนี้
ทว่า ผลลัพธ์ในปัจจุบันยังไม่ปรากฏชัด โดยเฉพาะเรื่องของธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) ซึ่งหมายถึงการปกครอง การบริหาร การจัดการการควบคุมดูแล กิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปในครรลองธรรม นอกจากนี้ยังหมายถึงการบริหารจัดการองค์กร และทรัพยากรมนุษย์ที่ดี องค์กรใดที่มีธรรมาภิบาลดี ก็จะช่วยสร้างสรรค์และส่งเสริมองค์กรให้มีศักยภาพเติบโตอย่างยั่งยืน
กรณีศึกษา ดานอนประเทศไทย หรือ บริษัท ดานอน สเปเชียลไลซ์ นิวทริชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้นำด้านนวัตกรรมโภชนาการเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ ‘ไฮคิว’ และแบรนด์ ‘ดูเม็กซ์’ ที่อยู่คู่กับชาวไทยมานานกว่า 65 ปี องค์กรแห่งนี้ยังได้รับรางวัลการันตีว่าเป็นองค์กรที่มีการดูแลพนักงานดีเด่น จากงาน HR Asia Awards 2024 จำนวน 3 รางวัล ในสาขา ‘องค์กรดีเด่นที่น่าร่วมงานที่สุดในเอเชีย’ (Best Company to Work For) ‘บริษัทที่ใส่ใจพนักงานที่สุด’ (Most Caring Company) และ ‘บริษัทที่ส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการโอบรับความแตกต่าง’ (Diversity, Equity, and Inclusion) ซึ่งเป็นรางวัลเพื่อยกย่ององค์กรที่ประสบผลสำเร็จในการสร้างความผูกพันกับพนักงาน วัฒนธรรมการทำงาน และการปฏิบัติงานด้านทรัพยากรบุคคลทั่วเอเชีย
วิชั่น One Planet. One Health
ทั้งนี้ ดานอน เป็นบริษัท ข้ามชาติสัญชาติฝรั่งเศสผู้ผลิตนมและอาหารแปรรูป ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1919 ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน ก่อนจะย้ายกิจการและสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่กรุงปารีส ในอีก 9 ปีต่อมา และดำเนินธุรกิจในไทยมากว่า 65 ปี โดยผลิตภัณฑ์พัฒนามาจากนวัตกรรมด้านโภชนาการเฉพาะทาง
ดานอน ประเทศไทย มีวิสัยทัศน์ One Planet. One Health เชื่อมโยงระหว่างสุขภาพคนและสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินธุรกิจในประเทศไทยผ่านการลงทุนทั้งในด้านทรัพยากรบุคคลและโครงสร้างพื้นฐานของบริษัท เช่น โรงงานของดานอนในนิคมอุตสาหกรรมบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่เป็นโรงงานที่ผลิตเพื่อกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
นอกจากนั้นยังได้รับการรับรอง B Corp สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของบริษัทในการสร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านโภชนาการ บุคคล สังคม และสิ่งแวดล้อม
ผสานธุรกิจกับความรับผิดชอบสังคม
นอกจากนี้ ตามวิสัยทัศน์ One Planet. One Health ของดานอน ยังมีแนวคิดโมเดลคู่ขนาน (Dual Project) ที่ ‘อ็องตวน รีบู’ (Antoine Riboud) ซีอีโอของดานอน แถลงเมื่อปี พ.ศ. 2515 โดยเน้นการผสานเป้าหมายทางธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นรากฐานในการดำเนินงานของดานอนมาอย่างยาวนาน
แดนิช ราห์มัน ผู้จัดการทั่วไป ดานอนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดานอน ประเทศไทย กล่าวว่า ดานอนยึดมั่นในแนวทาง Dual Project มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เชื่อว่าการสร้างคุณค่าให้กับทั้งผู้ถือหุ้นและสังคมจะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ถือเป็นสิ่งที่บริษัทภาคภูมิใจ และใช้เป็นปรัชญาองค์กร
3 เสาหลัก สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ชุมชน
สิ่งนี้ยังขับเคลื่อนกรอบการดำเนินงาน Danone Impact Journey หรือ DIJ ที่มุ่งเน้นเสาหลัก 3 ด้าน คือ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และผู้คนรวมถึงชุมชน ทั้งหมดนี้ทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน B Corp ระดับโลก ซึ่งเป็นการรับรองว่าตามมาตรฐานสูงของการดำเนินงานทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของดานอนในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทจะเดินหน้าสานต่อพันธกิจด้านความยั่งยืน และเป็นแบบอย่าง รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างกว้างขวางต่อไป
“การทำธุรกิจต้องดำเนินควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากธุรกิจดานอนจะเชื่อมโยงด้านสุขภาพที่ดีของคนแล้ว ดานอนมองว่าธุรกิจที่ดำเนินต้องสร้างสิ่งที่ดีให้กับโลกด้วย ดังนั้นวัตถุดิบจากแหล่งที่ปลูก แหล่งเพาะเลี้ยง จะต้องเป็นแหล่งที่ดี ส่งผลดีต่อสุขภาพคน และสิ่งแวดล้อมที่คนอาศัยอยู่”
วัตถุดิบมาจากแหล่งที่ยั่งยืน รับผิดชอบโลก
ด้านนัฏฐ์ภัสสร ธรรมศิรารักษ์ ผู้อำนวยการแผนกโครงการปฏิบัติการและการจัดซื้อ ดานอนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหนึ่งในผู้นำทีม Danone Impact Journey ของดานอน ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า Danone Impact Journey มุ่งเน้นเสาหลักใน 3 ด้าน คือ
1.สิ่งแวดล้อมทำอย่างไรให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือแม้แต่ช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับธุรกิจ
2.สุขภาพ ที่มุ่งส่งเสริมสุขภาพของผู้คนด้วยการพัฒนาโภชนาการในผลิตภัณฑ์ และ3.ผู้คนรวมถึงชุมชน โดยส่งเสริมความหลากหลายและการสนับสนุนชุมชนโดยรอบ เน้นย้ำเรื่องความเสมอภาคและความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ หรือความถนัดในอาชีพอื่น ๆ ใด รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย ไม่เพียงเท่านั้นวัตถุดิบทั้งหมดต้องมาจากแหล่งที่ยั่งยืนและรับผิดชอบ ความพยายามในด้านความยั่งยืนของเราไม่ใช่เพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ยังการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรม
มุ่งลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ
ทำงานใกล้ชิดเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว
ตัวอย่างเช่น โครงการ Triple Zero ที่โรงงานดานอนที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลี ซึ่งมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ น้ำเสีย และขยะให้เป็นศูนย์ มีการติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้พลังงาน รวมถึงมุ่งสร้างบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนด้วยการรีไซเคิล หรือใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้แบบ 100% ให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
“เนื่องจากผลิตภัณฑ์หลักคือนม ดานอนยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เข้าไปถึงฟาร์ม ทำโครงการต่าง ๆ พัฒนาและส่งเสริมรูปแบบการเกษตรแบบฟื้นฟูที่ช่วยปกป้องดิน ส่งเสริมพลังแก่เกษตรกร และส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งหลัก ๆ ในปีนี้จะเน้นทำเรื่องปรับปรุงอาหารสัตว์ เพื่อให้วัวสามารถให้น้ำนมได้มากขึ้น และปล่อยคาร์บอนน้อยลง ซึ่งเราก็เข้าไปหาเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เขาทำงานกับเราอย่างมีความสุขมากขึ้น”
เร่งแก้ปัญหาวิกฤตขาดแคลนน้ำ ในภาคปศุสัตว์
นัฏฐ์ภัสสร เผยอีกว่า การเลี้ยงวัวใช้น้ำค่อนข้างมาก วิกฤตขาดแคลนน้ำเป็นเรื่องที่น่ากังวล ในฐานะผู้ผลิตก็เริ่มที่จะดูเรื่องนี้แล้ว อย่างระดับโลก ได้ศึกษาดูงานที่อินโดนีเซีย เรื่องการจัดเก็บน้ำ ทั้งการจัดการน้ำเสีย ซึ่งในไทยยังไม่ได้เน้นเรื่องดูแลน้ำมากนัก แต่ก็เป็นประเด็นที่กำลังมองอยู่ว่าจะทำอะไรได้บ้างในระยะอันใกล้นี้
ลดผลกระทบด้านสุขภาพเด็กไทยผ่านผลิตภัณฑ์
นัฏฐ์ภัสสร กล่าวต่อว่า ในส่วนของผลิตภัณฑ์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทต้องการลดผลกระทบเด็กไทย ที่มีภาวะเสี่ยงโรคโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็ก จากสถิติประมาณ 1 ใน 4 ของเด็กไทย อายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีภาวะขาดธาตุเหล็ก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมอง สติ ปัญญา ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความแข็งแรงทั่วไปของเด็ก ฯลฯ สิ่งที่บริษัทฯดำเนินการคือออกหลายผลิตภัณฑ์ที่มีผสมธาตุเหล็ก
สุดท้ายคือ คน และชุมชน ดานอนได้รางวัล HR Award asia ไป (3 รางวัล) การันตีว่าบริษัทเป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วย เป็นองค์กรที่ดูแลพนักงาน และเป็นองค์กรที่มีความเสมอภาคเท่าเทียม เน้นย้ำเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยมองว่าพนักงานว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบเรื่องผู้คนและชุมชน สุขภาวะของพนักงานจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญ
ทั้งนี้ภายในปี 2568 ดานอนมีเป้าหมายในการเป็นหนึ่งในบริษัทข้ามชาติ (multinational company) กลุ่มแรกที่ได้รับการรับรอง B Corp ในระดับโลก เพื่อสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของบริษัทในการสร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านโภชนาการ บุคคล สังคม และสิ่งแวดล้อม
B Corp มาตรฐานระดับสากล
รับผิดชอบสังคม-สิ่งแวดล้อม
ขณะที่ ยูดี ปราดานา ผู้อำนวยการบริหาร B Market Builder เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงความสำคัญของมาตรฐานดังกล่าวว่า B Corp เป็นมาตรฐานที่เกิดขึ้นเพื่อรับรององค์กรที่ดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าธุรกิจได้ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านประสิทธิภาพ ความรับผิดชอบ และความโปร่งใส ตั้งแต่สวัสดิการพนักงาน ไปจนถึงห่วงโซ่อุปทานและวัตถุดิบที่ใช้
“เรามุ่งหวังให้มาตรฐาน B Corp ผลักดันให้ธุรกิจพัฒนาด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งพนักงาน ชุมชน ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม”
โดยมาตรฐานของ B Corp เป็นมาตรฐานพิเศษ เป็นการประเมินทั้งบริษัท ไม่ใช่แค่ตัวผลิตภัณฑ์ การรับรองสำหรับ B Corp จะเป็นส่วนสำคัญการทำงานของธุรกิจต่างๆ สามารถ วัดผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจของตนเองได้ มีประโยชน์ต่อผู็มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพราะจะเห็นว่าตอนนี้โลกเผชิญในเรื่อง การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศค่อนข้างมาก บริษัทที่จะได้การรับรองว่าเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนได้ จะต้องมีผลประกอบการที่ดีด้วย เพราะการมีผลประกอบการที่ดีทางธุรกิจ นั่นแปลว่ามีความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่วงจรความยั่งยืนได้ และทำได้ดี
“การได้รางวัล B Corp ในอาเซียนถือว่าใหม่มากในเรื่องนี้ ดังนั้นรางวัลของดานอน ถือเป็นต้นแบบแรก ๆ ของอาเซียนที่ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่เป็นประโยขชน์ในชุมชนและสิ่งแวดล้อม”
ทรัพยากรถูกใช้จนเหลือน้อย
ควรยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
ตรีสุวิชช์ อาริยวัฒน์ ผู้จัดการโครงการ ASEAN Circular Economy Stakeholder Platform จากศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความยั่งยืนในภาคธุรกิจจะเกิดขึ้นได้หากองค์กรผนวกความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์หลักของดำเนินงาน และกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับในทุกภาคส่วน จึงจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง โดยสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้ด้วยการให้ความสำคัญกับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ และการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน รวมทั้งนำนวัตกรรมและการวางแผนเชิงกลยุทธ์มาใช้ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความยั่งยืนที่กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก
“ตอนนี้อัตราการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการผลิต และการบริโภค ทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรแบบไม่ยั่งยืน ทำให้เกิดขยะ หรือของเสียตกค้าง ทั้งจากกระบวนการผลิต และหลังบริโภค แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการหาพลังงานทดแทน ทรัพยากรทดแทน มีการเก็บกลับของเสียบางส่วนมาผ่านกระบวนการแปลงสภาพในอุตสาหกรรมบางประเภท
แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่เพียงพอ จึงมองว่าการให้ความสำคัญกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องสำคัญที่ควรนำมาปรับใช้ได้ทุกภาคส่วน คือวิถีการผลิต และบริโภคที่จะพยายามเน้นให้วัสดุหรือสินค้านั้นๆ คงอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด ซ่อมแซม อัพเกรด รีไซเคิล ฯลฯ ทั้งหมดนี้ คือการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”
ตรีสุวิชช์ ยังกล่าวว่า ตอนนี้มาตรการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรป และสหรัฐ เริ่มแล้ว อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน คือถ้าจะค้าขายกับประเทศเหล่านี้ ก็ต้องดำเนินการตามกติกา โดยส่วนในอาเซียนก็ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ปี 2564 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ได้ออกตัวต่อการทำงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านกลไกทางการค้า เช่น มาตรฐานทางการค้า เพื่อเอื้อการค้าของการค้าสีเขียวในภูมิภาค เน้นการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ผลักดันต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกด้าน รวมถึงนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว
ผู้บริโภคต้องรู้แหล่งที่มาของสินค้า
ทางด้าน เชอรี่ – เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงผู้ร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืน มองว่า สิ่งที่ทำให้ตนเองสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นเมื่อ 9 ปีที่แล้วมองเห็นปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น จึงคิดว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่งจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง และลงมือทำได้จริง ๆ แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ก็ตาม จึงได้เริ่มทำงานเรื่องป่าไม้ ในรูปแบบไม่หวังผลกำไร ทำธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาสังคม ชวนชุมชนทำเกษตร และแปรรูป พอได้ทำธุรกิจเองจึงรู้ว่าการทำแบบยั่งยืน และไม่ยั่งยืนเป็นอย่างไร
“การสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกนั้นต้องมาจากความรับผิดชอบทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต อย่างตัวเองเป็นคนที่สนใจสิ่งแวดล้อม อะไรก็ตามในการบริโภคจะดูว่าสิ่งไหนที่เราสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลงได้ สิ่งไหนที่ใช้แล้วเกิดความคุ้มค่ามากสุด ก็จะขยายวง บริโภคของเราจากเรื่องอาหารไปสู่เสื้อผ้า และการใช้สิ่งของในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่ดูเรื่องความคุ้มค่าของการใช้เท่านั้น แต่ยังดูไปจนถึงแหล่งที่มาของสิ่งของนั้นๆ ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงบริษัทต่างๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญ พฤติกรรมของผู้บริโภคสามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อในภาคธุรกิจ และผลักดันให้เกิดความยั่งยืนได้จริงในสังคม” เข็มอัปสร กล่าว