กรณีศึกษาเมืองใหญ่ในโคลอมเบีย ลงทุน ‘ระเบียงสีเขียว’ โอบล้อมเมือง ‘เมเดยิน’ ลดอุณหภูมิได้ถึง 2 องศาฯ

กรณีศึกษาเมืองใหญ่ในโคลอมเบีย ลงทุน ‘ระเบียงสีเขียว’ โอบล้อมเมือง ‘เมเดยิน’ ลดอุณหภูมิได้ถึง 2 องศาฯ

ด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (urban heat island: UHI) ที่เกิดขึ้น ทำให้ปัจจุบันเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาใช้วิธีแก้ปัญหาจากธรรมชาติเพื่อลดอุณหภูมิร้อนภายในเมือง ตัวอย่างเช่น เมืองเมเดยิน (Medellín) เมืองที่ใหญ่อันดับสองของประเทศโคลอมเบีย สามารถลดอุณหภูมิเฉลี่ยของเมืองลงได้ 2 องศาเซลเซียส ผ่านการดำเนินการของโครงการ ‘Green Corridors’ หรือ แนวทางสีเขียวในพื้นที่เมือง เป็นการปลูกต้นไม้คู่ขนานไปกับแนวทางสาธารณะในเมือง ซึ่งพบว่าพื้นที่ในเมืองมีความร้อนมากกว่าในพื้นที่ชนบท เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างและพื้นถนนที่เพิ่มมาก ขณะที่ต้นไม้ในเมืองนั้นลดลง

แปลโดย: วันทนา อรรถสถาวร

 

 

ประเด็นสำคัญ

-เมืองต่างๆ ทั่วโลกต่างหันมาใช้แนวทางธรรมชาติเพื่อลดอุณหภูมิ รวมถึงเมืองเมเดยินในประเทศโคลอมเบีย ลดอุณหภูมิลงได้ถึง 2°C โดยการพัฒนาเครือข่ายระเบียงสีเขียว

-โครงการเมืองแห่งธรรมชาติที่เป็นบวกของฟอรั่มเศรษฐกิจโลกมีเป้าหมายที่จะช่วยให้เขตเมืองและธุรกิจต่างๆ รวมตัวกันตามหลักการร่วมกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับธรรมชาติ

 

ปัจจุบันนี้เมืองต่างๆ ร้อนเร็วกว่าพื้นที่ชนบท โดยหลักแล้วเกิดจากปรากฏการณ์กลุ่มความร้อนในเมือง (Urban Heat Island หรือ UHI) ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะสภาพแวดล้อมในเมืองซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานที่หนาแน่น เช่น อาคารและถนน ดูดซับและปล่อยความร้อนออกมาได้มากกว่าภูมิทัศน์ธรรมชาติ โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์นี้ ได้แก่

 

– คุณสมบัติของวัสดุ – วัสดุในเมือง เช่น แอสฟัลต์และคอนกรีต กักเก็บความร้อนได้ดีกว่าพืชพรรณ

– กิจกรรมของมนุษย์ – ความร้อนที่เกิดจากยานพาหนะ กระบวนการอุตสาหกรรม และเครื่องปรับอากาศ ทำให้เมืองมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น

– พืชพรรณลดลง – พื้นที่สีเขียวในเมืองน้อยลงทำให้การระบายความร้อนด้วยการระเหยลดลง ส่งผลให้มีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยเฉพาะในเวลากลางคืน

 

 

ความเสี่ยงจากความร้อนที่เพิ่มขึ้นสำหรับประชากรในเมือง

ฤดูร้อนปี 2023 เป็นช่วงที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้และคาดว่าจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นในอนาคต จากรายงานเมืองที่มีความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี 2030 (BiodiverCities by 2030) ของฟอรั่มเศรษฐกิจโลก ระบุว่าเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุด 576 แห่งของโลก ซึ่งเป็นที่ตั้งของประชากรกว่า 1,400 ล้านคน กว่า 70% ถือว่ามีความเสี่ยงสูงหรือสูงมากจากปัญหาต่าง ๆ เช่น ความร้อนจัด

ในปัจจุบันเมืองเป็นแหล่งสร้าง GDP ของโลกถึง 80% ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้กับพื้นที่เหล่านี้ไว้ในอนาคตจึงเป็นส่วนสำคัญต่อความสามารถในการเติบโตในระยะยาวของเรา ตามที่รายงานระบุ

 

 

การวางผังเมืองโดยให้คุณค่าธรรมชาติ

แก้ปัญหาเมือง ลดโลกร้อน มลพิษได้

รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกมองเห็นโอกาสในการโอบรับธรรมชาติและอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล มิฉะนั้น ระบบนิเวศธรรมชาติจะพังทลายลงอีก รายงานระบุว่า การวางผังเมืองสามารถสะท้อนถึงคุณค่าที่แท้จริงของแนวทางแก้ปัญหาในเมืองที่อิงกับธรรมชาติได้ โดยการวัดและเน้นย้ำถึงคุณค่าของธรรมชาติ

“โซลูชันตามธรรมชาติสำหรับโครงสร้างพื้นฐานในเมืองสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่าทางเลือกโครงสร้างพื้นฐานสีเทาถึง 28% ในการสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงบวก ในขณะที่มีต้นทุนน้อยกว่าถึง 50%” รายงานดังกล่าวระบุ

ขณะที่เมืองต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อรัฐบาล ภาคเอกชน นักลงทุน และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ร่วมมือกันเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ 

 

 

มีวิธีใดบ้างที่จะลดอุณหภูมิในเมือง

ทั้งนี้วิธีที่จะลดอุณหภูมิในเมืองได้ ประกอบด้วย 

– เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง (ต้นไม้ สวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียว)

– ใช้วัสดุสะท้อนแสงและสีอ่อนสำหรับหลังคาและทางเท้า

– สร้างโครงสร้างพื้นฐานสีน้ำเงิน (บ่อน้ำ แม่น้ำ แหล่งน้ำ)

– ส่งเสริมหลังคาและกำแพงสีเขียว

– เพิ่มประสิทธิภาพการออกแบบและการวางผังเมืองสำหรับร่มเงาและการระบายอากาศ

– ลดความร้อนที่เกิดจากมนุษย์ (ส่งเสริมการใช้พัดลมแทนเครื่องปรับอากาศ ใช้ระบบทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น)

เนื่องจากอุณหภูมิทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น การริเริ่มดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

‘ระเบียงสีเขียว’ กรณีศึกษา เมืองเมเดยิน 

ลดอุณหภูมิลงได้ถึง 2°C

“Green Corridors” ระเบียงสีเขียว คือแนวต้นไม้และพืชที่เมืองต่างๆ ทั่วโลกต่างหันมาใช้แนวทางธรรมชาติในการลดอุณหภูมิ รวมถึงเมืองเมเดยินในโคลอมเบีย ซึ่งสามารถลดอุณหภูมิลงได้ 2°C ด้วยการพัฒนาเครือข่ายระเบียงสีเขียวโครงการเมืองที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ (Nature-Positive Cities) ของฟอรั่มเศรษฐกิจโลก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้เขตเมืองและธุรกิจต่างๆ ร่วมมือกันตามหลักการทั่วไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับธรรมชาติ 

เมืองเมเดยินมีอุณหภูมิคงที่ตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 22-24°C ซึ่งเป็นผลมาจากตำแหน่งที่ตั้งในหุบเขาที่รายล้อมไปด้วยภูเขา เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโคลอมเบียแห่งนี้ยังมีอุณหภูมิที่อบอุ่นกว่าพื้นที่ชนบทโดยรอบ

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการลดพื้นที่สีเขียวและการเพิ่มขึ้นของอาคารและถนน นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น มลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้น

 

นักวางผังเมืองจึงต้องพิจารณาแก้ไขปัญหานี้ด้วยวิธีที่ยั่งยืน

ระเบียงหรือทางเดินสีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่จัดสวน เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างร่มเงาตามธรรมชาติให้แก่เมืองแห่งนี้ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับความร้อนผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการระเหยของน้ำ ซึ่งจะทำให้ไอน้ำระเหยออกสู่สิ่งแวดล้อม

ด้วยต้นทุนเพียง 6.50 ดอลลาร์สหรัฐ (214.50 บาท)ต่อคน เมืองเมเดยินในโคลอมเบียสามารถลดอุณหภูมิเฉลี่ยลงได้ 2°C

โครงการนี้ดำเนินการโดยใช้ “ทางเดินสีเขียว” ซึ่งเป็นแนวต้นไม้และพืชพรรณต่างๆ โดยมีค่าใช้จ่ายในการสร้างกว่า 16.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (538 ล้านบาท) และค่าบำรุงรักษาปีละ 625,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20.6 ล้านบาท)

 

 

ไม่เพียงลดอุณหภูมิ ยังลดมลพิษทางอากาศ 

โครงการทางเดินสีเขียวในเมืองเมเดยิน ไม่เพียงช่วยลดอุณหภูมิลงได้ 2°C เท่านั้น แต่ยังช่วยลดมลพิษทางอากาศอีกด้วย ผลที่ตามมาเหล่านี้ทำให้แนวทางแก้ปัญหาตามธรรมชาติได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่นักวางผังเมือง

 

 

เมืองในโคลอมเบียเย็นลงรวดเร็วในเวลาเพียง 3 ปี

ทั้งนี้ “ทางเดินสีเขียว” ที่เลียนแบบป่าธรรมชาติ ทำให้เมืองโคลอมเบียอากาศเย็นลงอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 3 ปี และอาจเย็นลงถึง 5°C ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

โดยก่อนหน้านี้ เมเดยิน เคยเผชิญกับการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วเป็นเวลาหลายปี นำไปสู่ปรากฏการณ์กลุ่มความร้อนในเมืองอย่างรุนแรง โดยทำให้อุณหภูมิในเมืองสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเขตชานเมืองและชนบทโดยรอบ ถนนและโครงสร้างพื้นฐานคอนกรีตอื่นๆ ดูดซับและรักษาความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้นานกว่าโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวมาก  

ปิลาร์ วาร์กัส (Pilar Vargas) วิศวกรป่าไม้ที่ทำงานให้กับศาลากลางเมือง กล่าวว่า เมืองเมเดยินเติบโตโดยแลกมาด้วยพื้นที่สีเขียวและพืชพรรณ  “เราก่อสร้างแล้วก่อสร้างอีก เราแทบไม่ได้คิดเรื่องผลกระทบต่อสภาพอากาศเลย เห็นได้ชัดว่าต้องเปลี่ยนแปลง”

 

 

สร้างระเบียงสีเขียว 30 แห่งตามถนนและทางน้ำของเมือง

ความพยายามดังกล่าวเริ่มขึ้นในปี 2016 ภายใต้การนำของเฟเดริโก กูติเอร์เรซ (Federico Gutiérrez) นายกเทศมนตรีเมืองเมเดยินในขณะนั้น ด้วยการเปิดตัวแนวทางใหม่ในการพัฒนาเมือง โดยเน้นที่ผู้คนและพืช

โครงการมูลค่า 16.3 ล้านดอลลาร์ (538 ล้านบาท) นี้ส่งผลให้มีการสร้างกรีนคอริดอร์ (Green Corridors) 30 แห่งตามถนนและทางน้ำของเมือง ซึ่งช่วยปรับปรุงหรือสร้างพื้นที่สีเขียวมากกว่า 70 เฮกตาร์ (437.5 ไร่)  รวมถึงเส้นทางร่มรื่นยาว 20 กิโลเมตรพร้อมเลนจักรยานและทางเดินเท้า พื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้เหล่านี้ ซึ่งเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวทุกประเภท เช่น ขอบทางเท้า จัตุรัส สวนสาธารณะ สวนแนวตั้ง ทางเท้า และแม้แต่เนินเขาทั้งเจ็ดลูกที่ล้อมรอบเมือง ช่วยสร้างอากาศสดชื่นและเย็นสบายท่ามกลางความร้อนในเมือง นอกจากนี้ ทางเดินยังได้รับการออกแบบให้เลียนแบบป่าธรรมชาติด้วยพืชในระดับต่ำ ปานกลาง และสูง รวมถึงพืชพื้นเมืองและเขตร้อน หญ้าไผ่ และต้นปาล์ม

โครงสร้างพื้นฐานที่กักเก็บความร้อน เช่น สถานีรถไฟใต้ดินและสะพาน ก็ได้รับการทำให้เป็นสีเขียวเช่นกันในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการ และอาคารของรัฐบาลก็ได้รับการประดับด้วยหลังคาสีเขียวและสวนแนวตั้งเพื่อคลายความร้อน โดยหลังคาแห่งแรกติดตั้งที่ศาลากลางเมืองเมเดยิน ซึ่งมีพืชเกือบ 100,000 ต้นและ 12 สายพันธุ์ครอบคลุมพื้นที่ 1,810 ตารางเมตร เปาล่า ซาปาต้า (Paula Zapata) กล่าวว่า มันเหมือนกับการฝังเข็มในเมือง ที่ปรึกษาของเมืองเมเดยินจาก C40 Cities ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลกที่มีนายกเทศมนตรีชั้นนำประมาณ 100 คนทั่วโลกกล่าว “เมืองกำลังดำเนินการแทรกแซงเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ที่เมื่อรวมกันแล้วจะสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่”

ในการเปิดตัวโครงการนี้ มีการเพิ่มต้นไม้ 120,000 ต้นและต้นไม้ 12,500 ต้นลงบนถนนและสวนสาธารณะทั่วเมือง ภายในปี 2021(พ.ศ. 2564) ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านต้นและต้นไม้ 880,000 ต้น โดยแต่ละต้นได้รับการคัดเลือกมาอย่างพิถีพิถันเพื่อให้เกิดผลกระทบสูงสุด

 

 

สวนแนวตั้งที่ศาลากลางเมืองเมเดยิน

ซาปาตา (Zapata) อธิบายว่า พืชและต้นไม้ 72 สายพันธุ์ที่คัดเลือกมานั้นเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ช่วยให้ความหลากหลายทางชีวภาพแพร่กระจาย และต่อสู้กับมลพิษทางอากาศ ตัวอย่างเช่น การศึกษาพบว่ามะม่วงอินดิก้า (Mangifera indica) เป็นพืชที่ดีที่สุดในบรรดา 6 สายพันธุ์ที่พบในเมืองเมเดยินในการดูดซับมลพิษ PM2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่ทำให้เกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ และโรคหัวใจ เป็นต้น

 

 

ความร้อนเป็นความท้าทายของเมืองในอนาคต

ขณะที่ในอนาคต การป้องกันและปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นจะเป็นความท้าทายที่สำคัญและเร่งด่วนสำหรับเมืองต่างๆ จำนวนเมืองที่ต้องเผชิญกับ “อุณหภูมิที่รุนแรง” มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในทศวรรษหน้า ตามข้อมูลของเมือง C40 ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2568)  เมืองมากกว่า 970 แห่งจะมีอุณหภูมิสูงเฉลี่ยในช่วงฤดูร้อนที่ 35°C (95°F)

การศึกษาวิจัยแยกกันประเมินว่า ในทางเดินแห่งหนึ่งของเมเดยิน พืชพรรณใหม่จะดูดซับ CO2 ได้ 160,787 กิโลกรัมต่อปี และในศตวรรษหน้า CO2 จะถูกดูดซับได้ 2,308,505 กิโลกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับการนำรถยนต์ออกจากท้องถนน 500 คัน

 

 

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อมลพิษทางอากาศ ระหว่างปี 2016 ถึง 2019 (2559-2562) ระดับ PM2.5 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญและในทางกลับกัน อัตราการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันของเมืองก็ลดลงจาก 159.8 เหลือ 95.3 ต่อประชากร 1,000 คน

นอกจากนี้ ปริมาณการปั่นจักรยานในเมือง ยังเพิ่มขึ้น 34.6% ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการสร้างเส้นทางจักรยานใหม่เพื่อโครงการนี้ และการศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพแสดงให้เห็นว่าสัตว์ป่ากำลังกลับมาอีกครั้ง โดยตัวอย่าง 1 ใน 5 ของทางเดินสีเขียวพบผีเสื้อ 30 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน

ขณะที่เมืองอื่น ๆ ก็ให้ความสนใจเช่นกัน โบโกตาและบาร์รังกิยาได้นำแผนดังกล่าวไปใช้เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในโคลอมเบีย และเมื่อปีที่แล้ว เซาเปาโล ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ ได้เริ่มขยายระเบียงทางเดินหลังจากเปิดตัวในปี 2022 (พ.ศ. 2565)

ซาปาตา (Zapata) กล่าวว่า แน่นอนว่า ‘เส้นทางสีเขียว’ สามารถใช้งานได้ในสถานที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง แต่ก็มีปัญหาอยู่บ้าง เช่น ทางเดินในเขตใจกลางเมืองต้องเผชิญกับมลพิษจำนวนมหาศาลเนื่องจากการจราจรที่ติดขัด ผู้ขับขี่มักจะทิ้งขยะไว้ตามทางเดิน และคนไร้บ้านในเมืองได้ใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย ดังนั้นระเบียงสีเขียวจึงต้องมีการดูแลรักษาที่ดี 

 

 

เมืองอื่น ๆ ก็ทำ’ระเบียงสีเขียว’ เช่นกัน

เมืองเมเดยินไม่ได้เป็นเพียงเมืองเดียวเท่านั้น เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกต่างหันมาใช้แนวทางธรรมชาติในการลดอุณหภูมิซึ่งเกิดจากวิกฤตการณ์สภาพอากาศอันเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าปรากฏการณ์กลุ่มความร้อนในเมืองซึ่งพื้นที่ในเมืองจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่าพื้นที่ชนบท เนื่องมาจากอาคารและวัสดุถนนที่กักเก็บความร้อนไว้

 

 

การออกแบบเชิงกลยุทธ์ในสิงคโปร์และดุสเซลดอร์ฟ

สิงคโปร์มีปัญหาการขาดแคลนพื้นที่และมีความหนาแน่นของประชากรสูง แต่แม้จะมีพื้นที่จำกัด แต่ก็ได้พัฒนาระบบถนนที่เรียกว่าNature Waysซึ่งมีต้นไม้และพุ่มไม้หลากหลายชนิดเรียงรายตลอดทาง โดยเลียนแบบโครงสร้างของป่าฝน

นอกจากจะช่วยลดอุณหภูมิแล้ว เรือนยอดไม้ยังช่วยปกป้องสัตว์ต่าง ๆ และลดมลภาวะทางอากาศอีกด้วย ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นเมืองที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดเป็นอันดับสองในดัชนี (Green View) ของทรีพีเดีย (Treepedia) ซึ่งวัดการปกคลุมเรือนยอดไม้ในเขตเมือง

เมืองดุสเซลดอร์ฟในประเทศเยอรมนี มีอาคารที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้กว่า 30,000 ต้น ซึ่งช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเมืองให้ดีขึ้นโคโบเกน II ( Kö-Bogen II) มีรั้วไม้พุ่มอยู่ทั่วบริเวณที่เลือกมาเพราะมีคุณสมบัติในการปรับระดับความร้อนในบริเวณโดยรอบ

 

 

การเติบโตของ “เมืองบวกธรรมชาติ”

เมื่อเร็วๆ นี้ ฟอรั่มเศรษฐกิจโลกได้เปิดตัวโครงการ Nature-Positive Citiesซึ่งมีเป้าหมายที่จะช่วยให้เขตเมืองและธุรกิจต่าง ๆ รวมตัวกันภายใต้หลักการร่วมกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับธรรมชาติ

ฟอรั่มกำลังร่วมมือกับ ‘เมืองแชมเปี้ยน’ 5 แห่งเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการและส่งมอบการแทรกแซงตามธรรมชาติ

เมืองบาร์รังกิยาในโคลอมเบียเป็นหนึ่งในเมืองเหล่านี้ รัฐบาลเพิ่งเผยแพร่แผนพัฒนาเมืองระยะยาวที่เรียกว่าบาร์รังกิย่า 2100 (Barranquilla 2100) ซึ่งระบุแผนการฟื้นฟูธรรมชาติและการฟื้นฟูเมืองโดยเน้นความหลากหลายทางชีวภาพ

เมืองที่เป็นแชมป์อีกแห่งคือเมืองอินชอนในเกาหลีใต้ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนให้เหลือศูนย์โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ด้วยกลยุทธ์ 4 เสาหลัก ซึ่งรวมถึงการติดตั้งร่มเงาธรรมชาติ

 

ที่มา: https://www.weforum.org/agenda/2024/01/nature-positive-cities-tackle-extreme-heat/

https://reasonstobecheerful.world/green-corridors-medellin-colombia-urban-heat/#