กรมสรรพสามิต ไขคำตอบจัดเก็บภาษีคาร์บอน ผ่านสินค้า ‘น้ำมัน’ ยืนยันระยะแรกยังไม่กระทบประชาชน เน้นสร้างความตระหนักรู้เท่านั้น เผยแผนกำลังศึกษากำหนดอัตราภาษีการใช้เอทานอลเพื่อความยั่งยืน ทั้งเอทิลีนชีวภาพ เชื้อเพลิงอากาศยาน รวมถึงภาษีแบตเตอรี่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ระเบียบการค้าใหม่ของโลกทยอยประกาศบังคับใช้ เป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือหลายด้าน โดยเฉพาะมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่า กรมสรรพสามิต เตรียมเก็บภาษีคาร์บอน โดยในระยะแรกจะเริ่มเก็บจากสินค้าน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
คำถามคือแล้วประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง? คนที่ใช้รถยนต์บนท้องถนน จะต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้นหรือไม่
รัชฎา วานิชกร ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ไขคำตอบเหล่านี้บนเวทีเสวนา นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ภายในงาน GC Sustainable Living Symposium 2024 : GEN S GATHERING เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าระยะแรกเป็นเพียงการสร้างความตระหนักรู้กับทุกคน ซึ่งภาษีนี้จะแทรกอยู่ในภาษีสรรพสามิตน้ำมันเดิมที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว เพียงแต่จะแยกให้เห็นชัดเจน
ย้อนดูกลไกภาษีจากบ่อน้ำมันถึงล้อรถ
จัดเก็บตามขนาดกระบอกสูบ สู่ปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ
รัชฎา กล่าวว่า ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 372.71 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า โดยที่ภาคพลังงานและภาคขนส่งปล่อยมากถึง 70% กรมสรรพสามิตได้มีกลไกการจัดเก็บภาษี ในส่วนของรถยนต์และจักรยานยนต์ ในรูปแบบตั้งแต่บ่อน้ำมันไปถึงล้อรถ แยกสองส่วนคือ Well to Tank กับ Tank to Wheel
โดยที่ Tank to Wheel ย้อนกลับไปก่อนหน้าปี 2559 มาตรการภาษีสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีตามขนาดของกระบอกสูบรถยนต์ โดยใช้หลักการ ‘ฟุ่มเฟือย’ ยังไม่ยึดหลัก ‘สิ่งแวดล้อม’ มากำหนดจัดเก็บภาษี ซึ่งหมายความว่า รถยนต์ขนาดใหญ่ หรือรถยนต์ที่หรูหรา ก็จะจ่ายภาษีมากกว่าประเภทอื่น ๆ
แต่เมื่อถึงปี 2559 เป็นปีแรกที่ได้เปลี่ยนเป็นนำหลักการของสิ่งแวดล้อมมาพิจารณา มีการกำหนดหลักโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งหมดตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือ ‘ปล่อยมาก เสียมาก ปล่อยน้อย เสียน้อย’ เพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้บริโภคโดยการนำ Eco Sticker มาติดที่รถยนต์ ระบุว่ารถคันนี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เท่าไหร่ ซึ่งการนำ Eco Sticker มาใช้ก็จะทำให้มีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น
ต่อมาปี 2563 ขยายมาสู่รถจักรยานยนต์ เปลี่ยนจากเก็บตามกระบอกสูบมาเป็นตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เช่นกัน ส่วนปี 2565 เริ่มมีมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดภาษี EV (รถยนต์ไฟฟ้า) นำเข้า ของศุลกากร มาตรการลดภาษีสรรพสามิต และมีการให้เงินอุดหนุนรถยนต์ EV ซึ่งเรียกมาตรการนี้ว่า EV3 เมื่อได้รับตอบรับอย่างดี จึงมีภาคต่อเป็นมาตรการ EV 3.5 เพื่อขยายเวลาในการสนับสนุนรถ EV ต่อ
ปี 2569 ประกาศอัตราภาษีใหม่
ปรับกฏเกณฑ์ปล่อยคาร์บอนฯ
เร่งอุตสาหกรรมปรับตัว
รัชฎา กล่าวต่อว่า การเก็บภาษีที่ปล่อยตามการปลอยก๊าซคาร์บอนฯ ใช้ตั้งแต่ปี 2559 หากครบ 10 ปี (ปี 2569) ต้องทบทวนเข้มข้นขึ้น ตามการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยียานยนต์ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กรมฯ จึงมีการประกาศอัตราใหม่ไปแล้ว แต่จะมีผลในปี 2569 เพื่อให้อุตสาหกรรมได้เร่งปรับตัวกัน โดยมีการปรับเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ให้เข้มขึ้นจากปี 2559
“ยกตัวอย่างเช่น รถรุ่นนี้ หากปี 2569 ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เท่าเดิมเหมือนปี 2559 ต้องเสียภาษีสูงขึ้น ถ้าอยากเสียเท่าเดิม ต้องลดคาร์บอนฯลงให้ได้ ซึ่งอัตราภาษีก็จะค่อย ๆ ปรับขึ้น จากปี 2569 ไปถึง 2573 ทีละ 1-2% แล้วแต่ว่ารถแต่ละประเภทมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ระดับไหน”
ในส่วนของ Well To tank เป็นเรื่องของน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน กรมฯ มีการสนับสนุน ให้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ผสมในเชื้อเพลิงฟอสซิล ผสมมากอัตราภาษีก็จะยิ่งลดต่ำลง พร้อมทั้งมีการส่งเสริมให้เกิดน้ำมันชีวภาพสังเคราะห์ การพัฒนาเทคโนโลยีให้นำน้ำมันปาล์ม ผ่านกระบวนการปิโตรเคมี เพื่อทำให้มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับน้ำมันดีเซล
โดยมาตรการภาษีในส่วนน้ำมันนั้น กลไกราคาคาร์บอนในประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างเสนอกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับ (Carbon Tax) ซึ่ง Carbon Tax จะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือดังกล่าว ต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่งที่จะมีผลบังคับใช้
“ในระหว่างนี้ ทางกรมฯ คิดว่า อยากจะนำร่องไปก่อน เพราะกฏเกณฑ์ทั่วโลกต่าง ๆ ก็บีบคั้นชัดเจน กฏระเบียบ CBAM ประเทศต่าง ๆ ก็จะเริ่มใช้ ปี 2569 จะเริ่มทยอยออกมา ฉะนั้นกรมฯ คิดว่าจะใช้เครื่องมือภายใต้กฏหมายสรรพสามิตที่มีปัจจุบัน นำร่องไปก่อน”
สรรพสามิตนำร่องเก็บภาษีน้ำมัน
รัชฎา ขยายความเพิ่มเติมว่า กฏหมายสรรสามิตปัจจุบันสามารถสร้างกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างภาคพลังงานและภาคขนส่ง ที่ปล่อยพลังงานสูง ต้นเหตุมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหลาย จากผลิตภัณฑ์น้ำมัน ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ เมื่อมาดูแล้ว น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นสินค้าที่มีการเสียภาษีสรรพสามิตอยู่แล้ว หรือจ่ายภาษีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันก๊าซ เบนซีน เตาก๊าซ LPG ดังนั้นกรมฯ อยากจะใช้ระยะแรกระหว่างรอความพร้อมของกฏหมายของประเทศที่จะทยอยออกมา เพื่อเริ่มสร้างความตระหนัก รู้จักการจัดการคาร์บอนในประเทศก่อน
ข้อเสนอเก็บภาษีคาร์บอน
200 บาทต่อตันคาร์บอน
สำหรับภาษีคาร์บอนนั้น จะดึงมาตรฐานสากลมาใช้ในการคำนวณ และยืนยันว่าการดำเนินการในระยะแรก จะต้องไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน และจะต้องทำให้เกิดกลไกราคาคาร์บอนขึ้นในประเทศไทยทันที โดยข้อเสนอของกรมฯในระยะแรกให้มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน อยู่ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน ซึ่งจะถือเป็นราคากลาง และเป็นอัตราการจัดเก็บที่ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ โดยพิกัดภาษีคาร์บอนจะแทรกอยู่ในภาษีสรรพสามิตน้ำมัน
“ตอนนี้นโยบายสรรพสามิตที่เสนอไปก็อยู่ใน ครม. แล้ว คงจะมีมติออกมาในไม่ช้า จะมีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิต เช่น อัตราภาษีสรรพสามิตของดีเซล ถามว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มไหม ยกตัวอย่างเช่น B5 ถ้าราคา 5.99 บาท/ลิตร ก็จะยังคงราคาเช่นเดิม เพียงแต่มีการปรับกฏหมาย ในระดับกฏกระทรวง แสดงสัดส่วนว่าตัวสรรพสามิตอาจมีสัดส่วนที่ลดลง และเพิ่มกลไกราคาคาร์บอนเข้ามาทุกตัวจะมีการแสดงสัดส่วนให้เกิดความชัดเจน
ประชาชนจะรับรู้ได้อย่างไรว่ามีตรงไหนปรับเปลี่ยน ? กรมฯ ต้องมีหน้าที่ให้ข้อมูลกับทุกฝ่าย หรือสมมติประชาชนไปเติมน้ำมัน อาจจะมีการโชว์ว่าจ่ายคาร์บอนไปเท่าไหร่ ส่วนภาคอุตสาหกรรม จะใช้ตัวเลข 200 บาทไปคำนวณต้นทุนทำธุรกิจ และคำนวณการปล่อยคาร์บอนออกไป เพื่อใช้ในการวางแผนต่อไป”
ภาษีคาร์บอน ไม่ใช่บทลงโทษ
แต่เป็นสร้างแรงจูงใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ทั้งนี้ รัชฎา แสดงความเห็นว่า ไม่อยากให้มองว่ามาตรการทางภาษีเป็นบทลงโทษคนทำไม่ดี แต่อยากให้มองว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจ และเป็นสิ่งกระตุ้นให้ทุกคนได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ในฐานะประชาชนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นได้ เช่น บริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือลดการใช้พลังงานที่ไม่สะอาดลง ในภาคอุตสากรรม มาตรการภาษีก็จะเป็นแรงจูงใจให้ปรับเปลี่ยนการลงทุน พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อไปสู่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ยกตัวอย่าง มาตรการภาษีรถยนต์ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่งของผู้บริโภค ถ้ามองย้อนกลับไปปี 2562 หลายคนยังไม่เปิดรับ EV ด้วยซ้ำ สัดส่วนมีแค่รถโมเดล อาจจะมีเรื่องไฮบริดเข้ามาบ้าง แต่หลายคนยังเชื่อรถสันดาปอยู่ พอเริ่มใช้มาตรการภาษีเป็นการส่งสัญญาณว่าทิศทางจะไปสู่ตรงนั้น ไม่ได้เป็นการบังคับ จนมาถึงปี 2567 เริ่มมีสัดส่วน EV ไฮบริดเพิ่มขึ้น สันดาปเริ่มน้อยลง”
ศึกษาการเก็บภาษี SAF-แบตเตอรี่
ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ยังกล่าวว่า มาตรการภาษีไม่ได้หยุดแค่นี้ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนเรื่อย ๆ ทางกรมสรรพสามิตก็มีการดูแลเรื่องภาษีโดยตรง มีมาตรการที่กำลังทำการบ้าน และอยู่ระหว่างการศึกษาอยู่ เช่น ส่งเสริมการใช้เอทานอลเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพเข้าไปในหลาย ๆ สินค้า เช่น สนับสนุนเอาไปใช้เอทิลีนชีวภาพ สำหรับการผลิตพลาสติกชีวภาพ หรือแม้แต่เรื่องเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) เอาเอทานอลเข้าไปผสมในน้ำมัน jet (น้ำมันเครื่องบิน) เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนลง หรือแม้แต่การใช้น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว เรื่องเหล่านี้ สรรพสามิต ก็ศึกษาอยู่ เพื่อกำหนดอัตราภาษีเพื่อให้เกิดการใช้ในเมืองไทยมากขึ้น
ตลอดจนมาตรการแบตเตอรี่ ซึ่งแบตเตอรี่จะเป็นตัวสำคัญสำหรับการกักเก็บพลังงานสะอาดไม่ว่าจะเป็นลม น้ำ หรือแสงแดด ดังนั้นการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อรองรับเทคโนโลยีสะอาดต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ทางกรมก็จะกำหนดโครงสร้างภาษีใหม่ เพื่อให้เกิดการผลิตแบตเตอรี่ที่มีผลิตประสิทธิภาพ เกิดวงจร (Life cycle) มีการชาร์จและใช้ได้หลายรอบ ศึกษาการปล่อยพลังงานต่อน้ำหนักเข้ามาในกำหนดโครงสร้าง เพื่อจูงใจให้เกิดสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีอัตราภาษีที่ต่ำลงด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือพฤติกรรมของคน ภาษีเป็นส่วนเล็กน้อยเท่านั้นที่จะเป็นแรงจูงใจให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม
เรื่องโดย : บุษกร สัตนาโค